วัคซีน คือผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่ถูกฆ่า หรือทำให้อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อโรคได้ นำมาฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อนั้นๆ
ปัจจุบัน แม้อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนจะเติบโตกว่าในอดีตอย่างมาก แต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตวัคซีนให้เพียงพอต่อประชากรในแต่ละประเทศ และการตามให้ทันโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงความพร้อมทั้งในด้านความรู้ ความสามารถ ของคนและงานวิจัย ตลอดจนฐานการผลิตที่มากเพียงพอ
ปกติแล้ว ประชากรไทยจะได้รับวัคซีนพื้นฐาน 8 ชนิด เช่น วัณโรค คอตีบ บาดทะยัก หัด ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ระบุที่จะยกระดับกลไกการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนมากขึ้น คือการพิจารณาผลิตวัคซีนสำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ครบ 70 ล้านคน หากเกิดสถานการณ์ระบาดของโรคใดๆ ที่เสี่ยงจะส่งผลกระทบต่อประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมงานด้านการวิจัย การผลิต และการสำรองวัคซีนให้พอเพียงต่อประชากร ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมดังกล่าว จนสามารถเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกได้ในอนาคต
ในงานแถลงข่าว ก้าวสู่ 2 ทศวรรษของโรงงานผลิตวัคซีนมาตรฐานระดับโลกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ บริษัท องค์การเภสัชกรรม - เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP) ดร.จรุง ชนะเมือง ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว 20 ปี ระบุว่า
ดร.จรุง ระบุว่า ไม่ใช่ว่าทุกประเทศสามารถผลิตวัคซีนได้ด้วยตนเอง แต่ประเทศไทยปัจจุบันสามารถผลิต และส่งออกวีคซีนได้หลายตัว อาทิ GPO-MPB ที่สามารถผลิต และส่งออกวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบจีอีไปยัง 15 ประเทศทั่วโลก
ประเทศไทย แม้เป็นประเทศที่มีการทำงานวิจัย และพัฒนามากเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน แต่อาจจะขาดความต่อเนื่องด้านนโยบาย ทำให้ตำแหน่งผู้นำด้านการผลิตวัคซีนในอาเซียนตกเป็นของอินโดนีเซีย ซึ่งมีต่างชาติเข้ามาร่วมทุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไทยตามมา สูสีกับเวียดนาม ดังนั้น การทำงานแบบบูรณาการทั้งรัฐและเอกชนต่อจากนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายผู้นำด้านวัคซีนได้
ขณะที่รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดต่อเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความสำคัญของวัคซีน ว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันของคนต่อโรคที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นวิธีการป้องกันโรคที่คุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างมาก เพราะโรคระบาดเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ โดยปัจจุบันมีกว่า 30 โรคที่สามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ วัคซีนจะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำเดิมเหมือนในอดีต ที่ประเทศไทยเคยเผชิญวิกฤตไข้หวัดนกระหว่าง พ.ศ. 2546-2547 ซึ่งทำให้ไก่ไทยส่งออกไม่ได้ สูญเงินหลายหมื่นล้านบาท
“วัคซีนช่วยชีวิตคนได้กว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลก และประมาณ 750,000 คนรอดจากความพิการ เพราะบางคนเป็นโรคหายแล้ว แต่อาจจะมีความพิการติดตัวไป อย่างเช่นโรคไข้สมองอักเสบ 1 ใน 3 ของคนที่ป่วยโรคนี้พิการตลอดชีวิต สมัยผมจบหมอใหม่ๆ จะเจอเด็กที่พิการจากโรคนี้เยอะมาก น่าสงสารมาก” นายแพทย์ทวีกล่าวพร้อมบอกต่อด้วยว่า อนาคตโรคจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะคนไปยุ่งกับเชื้อโรคมากขึ้น เช่น การติดเชื้อจากสัตว์
ดังนั้น การลงทุนด้านวัคซีนจึงจำเป็น และต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และจัดการ ในระยะแรกของประเทศไทยควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้านการลงทุนขั้นต้น