วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่เข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือ ถึงแม้เข้าถึงก็มีต้นทุนสูงมาก ดังนั้นในฐานะที่นโยบายของตนต้องการทำให้ธนาคารออมสินเป็น Social Bank หรือ ธนาคารเพื่อสังคม ที่ผ่านมานับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์การเงิน เพื่อดูแลลูกค้ามากถึง 16 โครงการ ดูแลลูกค้า 5 ล้านคน วงเงินรวม 2-3 แสนล้านบาท ล่าสุด ธนาคารฯ เปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ชื่อ "สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน" เปลี่ยนที่ดิน เป็นเงินเสริมสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอี
ทั้งนี้ ผู้ขอกู้สินเชื่อ 'SMEs มีที่ มีเงิน' เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี Social Enterprise (ยกเว้นผู้ประกอบการธุรกิจขายฝาก หรือให้สินเชื่อลักษณะเดียวกับธนาคาร) ที่เปิดดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี มีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นทุนหมุนเวียนกิจการ รวมถึงการไถ่ถอนจากการขายฝาก (จำนองโฉนด) ที่มีสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ต.ค. 2563 โดยสินเชื่อนี้มีที่ดิน หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน
วงเงินกู้ที่ได้คือ 70% ของราคาประเมินที่ดินจากราชการ โดยกรณีบุคคลธรรมดาได้วงเงิน 1-10 ล้านบาท นิติบุคคลได้วงเงิน 1-50 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ย 5.99% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา และมีกำหนดเวลาการชำระคืนเงินต้นเมื่อผู้กู้มีความพร้อม แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี
สำหรับสินเชื่อโครงการนี้มีวงเงินทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท ผู้สนใจสามารถยื่นลงทะเบียนขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้-30 มิ.ย. 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวด้วยว่า ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน การขายที่ดินไม่ใช่เรื่องง่าย การขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่งก็มีกฎหมาย มีหลักเกณฑ์กำหนด เช่น ต้องวิเคราะห์เครดิตบูโร ธนาคารต้องบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่โครงการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงินได้รับการเห็นชอบจากทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ทำให้สามารถผ่อนคลายเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ โดยผู้ที่ขอสินเชื่อในโครงการนี้ ต้องประกอบกิจการอย่างน้อย 1 ปี ไม่ต้องถูกตรวจเครดิตบูโร ไม่ต้องถูกวิเคราะห์งบการเงิน ไม่ต้องมีแผนธุรกิจ และมั่นใจว่าจะไม่เกินหนี้เสียเพราะเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน
"ธนาคารไม่กังวลเรื่องหนี้เสีย เนื่องจากมีหลักประกันเป็นที่ดิน และเราก็ให้สินเชื่อที่ 70% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่การออกสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงินจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีเงินเสริมสภาพคล่อง หรือนำไปไถ่ถอนโฉนดตามสัญญาขายฝาก ที่พอทราบๆ กันว่า ปัจจุบันมีค่าปากถุง (ค่าธรรมเนียม) 3-5% คิดดอกเบี้ย 20-30% ต่อปี อีกทั้งการขายฝากผู้กู้ต้องโอนที่ดินให้นายทุนก่อนด้วยซ้ำ จึงทำให้ธนาคารออกสินเชื่อตัวนี้มาให้เอสเอ็มอีมีแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม" วิทัย กล่าว
นอกจากนี้ ในเร็วๆ นี้ ธนาคารออมสินจะมีสินเชื่อจำนำรถยนต์ที่จะร่วมทุนกับเอกชนรายอื่นออกมาดูแลลูกค้า ทำโครงการ 'สมุย โมเดล' เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องบริการในเกาะสมุยที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19
'นารากร' เล่าประสบการณ์ตรง ต้องการเงินทุนทำธุรกิจ จึงต้องยอมขายฝากเสียเปรียบ
นารากร ติยายน กรรมการ บริษัท บ้านข่าว1968 จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่จากคนทำข่าว เป็นสื่อมวลชน ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยร่วมทุนกับเพื่อนสนิททำธุรกิจเสื้อแจคเก็ตตามสั่ง ซึ่งในตอนนั้นเพื่อนได้รับคำสั่งซื้อลอตใหญ่ และมาชวนลงทุน นำเงินไปซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าตามออเดอร์ โดยตนได้นำหลักทรัพย์คือตึกแถวที่มีราคาประเมิน 6 ล้านบาท ไปขายฝาก เพราะต้องการเงินทุนมาทำธุรกิจ
"ตอนนั้น นายทุนก็รับฝาก ให้ราคา 2 ล้านบาท ทั้งที่ราคาประเมิน 6 ล้านบาท คิดค่าปากถุง ที่เขาบอกว่าเป็นค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินที่สำนักงานที่ดินอีก 3% ดอกเบี้ย 18% ต่อปี และต้องจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือน ตอนนั้นด้วยความต้องการเงินไปลงทุนทำของตามออเดอร์ ก็ต้องยอม" นารากร เล่าจากประสบการณ์ตรงเป็นอุทาหรณ์ ผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ