วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน หรือ PM 2.5 คลุมเมืองและอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัดตรวจพบมีค่าเกินมาตรฐาน
แม้ว่านายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ให้สัมภาษณ์กับ นายสุทธิชัย หยุ่น นักข่าวชื่อดัง โดยยืนยันว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ยังไม่รุนแรงและเห็นว่าผู้ที่นำผลกระทบด้านสุขภาพเช่นการนำเลือดกำเดา แผลพุพอง โพสต์ผ่านสื่อโซเชียลนั้น 'ดราม่าเกินไป' กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงทัศนะดังกล่าว
รวมถึงปัจจัยการก่อมลพิษ โดยเฉพาะ 'การเผาไร่อ้อย' ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง แม้ว่าจะมีการออกมาตรการควบคุม และข้อเสนอจากประชาชนทั้งภาควิชาการและในโซเชียลมีเดีย ระดมความคิดในการเสนอทางออกวิกฤต
ขณะที่รัฐบาลได้มีมติให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็น 'วาระแห่งชาติ' เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประกาศเจตนารมณ์เรื่อยมาถึงต้นปี 2563 'ละอองฝุ่น' ยังคงเป็นม่านกระจก ปกคลุมเมืองหลวงและยังไม่มีท่าทีลดลงได้
โดยเฉพาะล่าสุดวันนี้ (23 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาเน้นย้ำว่า รัฐบาลตู่ 2 มีน้ำยาพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้ จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่า ระดับแม่ทัพรัฐบาลพูดออกมานั้นจะมี 'น้ำยา' หรือ 'น้ำเหลว'
ความเจริญห้อมล้อมฝุ่น
'วอยซ์ ออนไลน์' พูดคุยกับ 'สนธิ คชวัฒน์' ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ถึงสถานการณ์ภาวะใต้หมอกฝุ่น ที่เริ่มขยายวงกว้างส่งผลกระทบ และวิเคราะห์สาเหตุตลอดจนแนวทางการแก้ไข ผ่านมุมมองผู้ติดตามวิกฤตฝุ่นคลุมเมือง
โดยอาจารย์สนธิ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 มักจะรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี หรือช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย เนื่องจากความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน แผ่ขยายมาถึงประเทศไทย ทำให้อากาศร้อนลอยขึ้นไปไม่ได้ เปรียบเสมือน 'นำฝาชีมาครอบ' ประจวบกับช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ฤดูร้อนแรงลมค่อนข้างนิ่ง มลพิษทั้งหลายไม่สามารถฟุ้งในแนวดิ่งหรือแนวราบได้ ส่งผลให้ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ได้แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ ประกอบไปด้วยกทม.และต่างจังหวัด พบว่าสาเหตุหลักในพื้นที่กทม.และปริมณฑล คือปริมาณรถยนต์ 10.3 ล้านคัน แบ่งเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล ที่ปล่อย PM 2.5 ประมาณ 2.7 ล้านคัน รวมถึงการก่อสร้างบนท้องถนน เช่น โครงการรถไฟฟ้า 6 สาย ทำให้พื้นที่ถนนบีบแคบลงกระจายความแออัดไปทุกตารางนิ้ว การสร้างตึกสูงโดยเฉพาะตามแนวสถานีรถไฟฟ้า อย่างน้อย 2,800 แห่ง ทำให้การระบายอากาศถูกบดบังจากตึกสูง
ช่องโหว่มาตรการรัฐ การยกระดับที่ไม่ครอบคลุม
อีกหนึ่งสาเหตุหลักคือ 'การเผาไร่อ้อย' ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานน้ำตาล 28 แห่ง ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก ในปัจจุบันมักจะพบเห็นในจังหวัดต่างๆ หลากภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในพระนครศรีอยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เมื่อเกิดลมพัดเข้ามาในกทม. บวกกับปัจจัยเดิม กลายเป็นสาเหตุหลัก ที่อาจารย์สนธิเห็นว่าทำให้เกิดภาวะสะสมของฝุ่น PM 2.5
ทว่าการเผาไร่อ้อยนั้น อาจมีปัจจัยมาจากรัฐบาลเอง เนื่องด้วยการส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อย สนองการส่งออกน้ำตาล จากผลสำรวจการปลูกอ้อยทั่วประเทศจำนวน 12 ล้านไร่ ขณะเดียวกันมองว่า รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อย แต่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการออกมาสนับสนุนชัดเจน ขณะที่ภาคเกษตรกร ให้เหตุผลว่าการตัดอ้อยสดมีความลำบากมากกว่าเผา และได้ปริมาณเพียง 1 ตันต่อวัน ซึ่งต่างจากการเผาที่ได้ผลผลิตถึง 3 ตันต่อวัน
สอดรับกับรัฐบาลมีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กำหนดให้สามารถรับซื้ออ้อยเผาไฟไหม้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ จากการรับซื้อทั้งหมด ส่งผลทำให้เกิดการเผาขึ้นกระจายไปในหลายพื้นที่
แม้ว่าในปัจจุบันรัฐบาลมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ การยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ประกอบไปด้วย
เพื่อเป็นการยกระดับเร่งด่วน โดยมอบอำนาจให้คณะรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพสั่งการ
อาจารย์สนธิ ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามติดังกล่าวยังมีช่องโหว่ให้เห็น เพราะเน้นการแก้ปัญหาและป้องกันพื้นที่กทม. แต่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือไม่มีระบุถึง และไม่มีมาตรการชัดเจนในการกำกับดูแล ที่ขัดกับมติเมื่อปี 2562 ที่รองรับการเผาไร่อ้อย ดังนั้นถ้าหากจะยึดอย่างเคร่งครัดตามมติล่าสุด ต้องบังคับให้การเผาไร่อ้อยหมดไปภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
เป็นที่น่าสนใจว่าอีก 2 วันจะถึง 'เทศกาลตรุษจีน' กทม.และรัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมการจุดธูปจุดเทียนตามธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไร และกทม.มีการประชาสัมพันธ์หรือยังว่าไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง เพราะมันเกี่ยวข้องกับประเพณีบรรพบุรุษ อีกหนึ่งข้อบังคับคือการขอความร่วมมือภาคเอกชน ประชาชนและภาครัฐ เปลี่ยนจากการใช้รถส่วนตัวมาเป็นระบบขนส่งสาธารณะ แต่อาจารย์สนธิเห็นว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนรองรับ
"เพราะการขอให้เสียสละไม่ใช้รถส่วนตัวออกนอกบ้าน รัฐบาลควรลดราคารถไฟฟ้าที่แพงมหาโหด และอาจมีบริการรถสาธารณะขสมก.ฟรี หรือมีรถเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับสถานีรถไฟฟ้าฟรี รวมถึงค่าที่จอดรถตรงสถานีรถไฟฟ้าสามารถลดลงอีกได้ไหม ให้ประชาชนเสียสละรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนด้วย"
ไม่ต้องรอให้เกิดวิกฤต รัฐถึงลุกขึ้นแก้ปัญหา
จากสถิติที่ปรากฎขึ้นความรุนแรงของฝุ่นจะเกิดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ดังนั้นอาจารย์สนธิ เสนอว่าไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดฝุ่นจนเกินค่ามาตรฐาน พอถึงวันที่ 1 มกราคม ต้องดำเนินการบังคับห้ามเผา ห้ามการก่อสร้างที่เกิดฝุ่น โดยไม่ต้องรอคำสั่งอย่างเข้มงวดเช่นทุกปี และรัฐบาลต้องสั่งให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบประเมินผล ว่าหน่วยงานไหนหย่อนยานไม่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และรายงานถึงนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม สำหรับมติล่าสุดเปรียบเหมือน 'Master Plan' ที่เป็นเพียงเป้าหลักจึงจำเป็นต้องมีการกำหนด 'Action Plan' ให้ละเอียดว่าหน่วยงานไหนต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไรโดยเร่งด่วน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อเสนอคือเปิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะการออกมาตรการควรได้รับเสียงยอมรับจากประชาชน ไม่ใช่รับฟังข้อมูลจากภาครัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น ควรเชิญตัวแทนภาคประชาชนนักวิชาการที่มีความรู้ เข้ามาร่วมถกเถียงหาทางออก เมื่อได้ข้อสรุปแล้วต้องถามประชาชนด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยก็ประกาศใช้เลย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยอมเสียสละอยู่แล้วหากมีความเหมาะสม แต่ไม่เคยมีการสอบถามคิดเองกันหมดสุดท้ายไม่ได้ผลทำให้ถูกวิพากษ์วิจารย์อย่างทุกวันนี้
"ในเรื่องฝุ่นละอองคงไม่หมดไปในเร็วๆ นี้ เพราะในมาตรการในระยะยาวเราต้องเปลี่ยนการใช้น้ำมัน เช่น การใช้ดีเซล B20 (เชื้อเพลิงทางเลือกที่สร้างขึ้นโดยการผสมน้ำมันดีเซลปกติ) สำหรับรถขนส่ง และในอนาคตต้องมีการรณรงค์ให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรัฐบาลต้องทำให้การซื้อรถยากขึ้น ถ้าจะซื้อรถส่วนตัวต้องมีที่จอดรถและทะเบียนบ้านยืนยันนี่คือแผนระยะยาว เพราะฉะนั้น 1-2 ปี ปัญหาฝุ่นจะยังไม่หมด วิธีการที่ทำให้เกิดผลที่สุดคือนำแผนที่ยกระดับในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ คุณต้องนำมาใช้เลยสั่งการไปเลย แต่ตอนนี้กลับไม่ใช้ดันเอาไปเข้าครม.ใหม่ ผมก็แปลกใจประเทศไทยอยู่เหมือนกัน" สนธิ กล่าว
อ่านเพิ่มเติม