ไม่พบผลการค้นหา
พนักงานสาวเซอร์ไพรส์ไม่น้อย หลังเจอเพจเชียร์นายกรัฐมนตรี ตอบกลับความสงสัยของเธอเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานกิจกรรมว่า “ไม่เสือกนะคะลูก ไม่ใช่เงินโคตรพ่อโคตรแม่ใครแล้วกัน”

เวลาเจอคนด่าว่า “อย่าเสือก” บางคนอาจเลือกตอบโต้ด้วยท่าทีหยาบคาย สวนกลับด้วยข้อความรุนแรง แต่สำหรับ 'เจน' พนักงานออฟฟิศวัย 27 ปี เลือกที่จะแสดงออกอย่างสุภาพและเสียงหัวเราะด้วยความเซอร์ไพรส์

เธอเป็นพนักงานประจำบริษัทโลจิสติกส์ ที่ติดตามการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดไปตั้งคำถามกับเพจ ‘เชียร์ลุง’ เพจที่แสดงการสนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา และประกาศจัดงาน เดินเชียร์ลุง ในวันที่ 12 ม.ค. ที่สวนลุมพินี

เจน ไปตั้งคำถามใต้โพสต์ 'แจกเข็มกลัด' ของเพจเชียร์ลุงว่า “ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเข็มกลัดเอามาจากไหนหรอคะ”

“ไม่เสือกนะคะลูก” คือข้อความที่แอดมินตอบกลับ “ไม่ใช่เงินโคตรพ่อ โคตรแม่ใครแล้วกัน”

“ทำไมต้องเสือกอยากรู้ไปหมด มันทำให้เธอรวยขึ้นหรือบ้านไฟไหม้ปะ”

เมื่ออธิบายว่า “แค่ถามดีๆ นะคะ นี่แอดมินหรอ” เธอเจอสวนว่า “ไม่ใช่แอดละเป็นพ่อเธอหรือไง”

สาวเจเนอเรชัน Y บอกวอยซ์ออนไลน์ด้วยน้ำเสียงร่าเริงว่า “ตกใจมากเลยค่า” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าถามไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ มิใช่ยุแยงหรือหวังให้โกรธเคือง

“เราอยากรู้ด้วยความจริงใจ ไม่คิดว่าแอดมินเขาจะตอบกลับมาอย่างนี้” หญิงกรุงเทพฯ พูดพลางหัวเราะ

ก่อนหน้านั้นเจนกำลังเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง งานวิ่งไล่ลุง และ เดินเชียร์ลุง ถึงที่มาของงบประมาณในการจัดกิจกรรม ขณะที่ ‘วิ่งไล่ลุง’ เก็บค่าสมัครคนละ 600 บาท ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าสอดคล้องกับงานวิ่งทั่วๆ ไป ซึ่งเสียค่าสมัคร เพื่อแลกกับเสื้อ เหรียญรางวัล และการบริการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ‘เดินเชียร์ลุง’ กลับไม่มีการชี้แจงถึงผู้สนับสนุนหรือที่มาของเงินจัดกิจกรรม

“ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายและฟรีเข็มกลัด เจนเลยสงสัยว่า เอางบมาจากไหน” เจนตั้งคำถามและไม่ได้คาดหวังว่าแอดมินจะชี้แจงเส้นทางการเงินและรายละเอียดอย่างแน่ชัด แต่ไม่คิดเหมือนกันว่าจะมาในเชิงดุดันแบบนี้

“พอเราถามกลับไปดีๆ ว่านี่แอดมินหรอ เขาตอบกลับมาอีกสองข้อความ รุนแรงเหมือนเดิม และสุดท้ายคอมเมนต์ก็หายไป ที่คนเห็นในโลกออนไลน์นั่นไม่รู้ว่าใครเป็นคนแคปไว้” เธอเล่าต่อ

“เจนไม่ได้เป็นคนแคปเองนะคะ กลับไปดูอีกทีข้อความของเราก็หายไปแล้ว จนวันนี้เพื่อนๆ ที่ออฟฟิศมาบอกว่า เขาแชร์ข้อความของเจนเต็มไปหมดเลยนะ เราก็แปลกใจ โอ้ววว”

81406432_3658926804119303_4741695245412990976_o.jpg

ในฐานะคนรุ่นใหม่ เจนเห็นว่า แอดมินน่าจะเลือกสื่อสารและให้เหตุผลด้วยความสุภาพ โดยเฉพาะเมื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ

“ทุกกิจกรรมต้องมีผู้สนับสนุนอยู่แล้ว แค่ตอบผ่านๆ ไปว่าเป็นเงินของแอดมินก็จบแล้ว เขาเลือกที่จะตอบได้หลายมุมมอง หลายเหตุผล หรือไม่ตอบก็ได้ แต่กลับแสดงออกมาแบบนี้ เลือกที่จะเกรี้ยวกราดเอง เราไม่ได้ไปแหย่ และเป็นคอมเมนต์แรกของเราในเพจเขาด้วย”

ในทางการเมือง ความสงสัยและไว้วางใจของผู้คนต่อพรรคการเมืองหรือแนวร่วมทางการเมือง มีผลยิ่งต่อการตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน

“เรามีสิทธิที่จะสงสัยต่อกิจกรรมสาธารณะ ถ้าใครไม่สามารถชี้แจงเหตุผลของการกระทำได้ เราก็มีสิทธิไม่ไว้วางใจ

“จริงๆ แล้วเราก็พอทราบกันแหละว่าวัตถุประสงค์หลักที่ทุกคนจัดงานคืออะไร แต่คำตอบและท่าทีที่เขาแสดงออกมันสะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นคนยังไง มีทัศนคติอย่างไร”

เจน ที่เปลี่ยนภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กทันทีที่เรื่องถูกกระจายในวงกว้าง บอกว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ ขอยืนยันทุกการแสดงออกในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นไปด้วยความจริงใจ ต้องการรับรู้ข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุด มองเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้คนฉลาด มากกว่าเอาไว้โจมตีผู้อื่น

“สิ่งที่คนรุ่นใหม่แสดงออกในโลกออนไลน์ เชื่อว่าส่วนใหญ่แทบทั้งหมดเป็นความจริงใจ สงสัย และต้องการให้สังคมดีขึ้นด้วยกันทั้งนั้น” เจนกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงานลุงทั้ง 2 งาน จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. นี้ โดย 'วิ่งไล่ลุง' จะเกิดขึ้นที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ เขตจตุจักร มี นายธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงาน

ส่วนอีกกิจกรรม ใช้ชื่อว่า 'เดินเชียร์ลุง' จะเกิดขึ้นที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยโฉมหน้าแกนนำผู้จัดกิจกรรมต่อสาธารณะ

78756074_2369648446678589_6387778505697918976_o.jpg

ภาพจากเพจ เชียร์ลุง

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog