นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภาพรวมการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคม 2562 ว่า มีมูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยมีมูลค่า 207,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ สรท. ได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2562 จะติดลบสูงถึงร้อยละ 2.5 - 3 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 1.5 เนื่องจากยังไม่มั่นใจว่า 2 เดือนสุดท้ายของปีโอกาสที่จะกลับมาเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่พบปัจจัยบวก มีแต่ปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น
“เราไม่มั่นใจว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมว่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งโอกาสที่จะรักษาการหดตัวให้ติดลบร้อยละ 1.5 เป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีปัจจัยบวกเลย ดังนั้นจึงปรับคาดการณ์ว่าทั้งปีจะหดตัวมากขึ้น” นางสาวกัณญภัค กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ สรท. ยังมีความกังวล คือ ปัญาหาสงครามการค้าที่ขณะนี้ท่าทีในการลงนาม Phase1 ยังมีหลายประเด็นที่ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ อาทิ การสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ และทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบกับสหรัฐประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงในฮ่องกง หากไม่สามารถตำลงกันได้ สหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มภาษีตามกำหนดเดิม 15 ธ.ค. 2562 มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า ส่วนในปี 2563 คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ร้อยละ 0 - 1
ทั้งนี้ สรท. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องบริหารจัดการเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้ด้วยมาตรการที่เข้มข้น และภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นการส่งออก โดยต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการลงทุนการใช้เทคโนโลยี และพัฒนาเกษตรให้มีความรู้เทคโนโลยี