ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ออนไลน์' ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนถึงแนวทางการตั้ง กมธ.วิสามัญป้องกันการรัฐประหาร สกัดเหตุซ้ำรอยในอนาคต ซึ่งพรรคอนาคตใหม่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในสภาฯ โดยมีทั้งเสียงสะท้อนจากประชาชนหลากหลายทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

"ผมจึงไม่ควรเห็นว่าจะตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะผมเชื่อว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของคนบ้าอำนาจ ภาษาการเมืองเขาบอกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ ภาษาอังกฤษบอกว่า Vicious cycle ภาษาราชการบอกว่าเป็นนิสัยอันถาวร ภาษาชาวบ้านบอกว่าเป็นสันดาน"

เป็นคำอภิปรายตอนหนึ่งซีกรัฐบาลของ 'เทพไท เสนพงศ์' ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้ระบุกลางสภาฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563 ขณะอภิปรายในญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ที่ 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และคณะเป็นผู้เสนอ

ขณะที่ 'ปิยบุตร' และ ส.ส.จากซีกฝ่ายค้านต่างอภิปรายสนับสนุนให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญในญัตติดังกล่าว เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ ไม่ให้มีการใช้กำลังของกองทัพออกมาหยุดยั้งพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย

เนื่องด้วยตลอดการรัฐประหารในทุกครั้งของการเมืองไทย ถูกเรียกขานให้เป็นวงจรอุบาทว์การเมืองไทย

"นักวิชาการในทางรัฐศาสตร์ พยายามจะเรียกสิ่งนี้ว่า วงจรอุบาทว์ คือเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นทหารออกมายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำรัฐธรรมนูญถาวร เสร็จแล้วมีการเลือกตั้ง เลือกตั้งเสร็จประคองกันไปได้สักพักหนึ่งก็เกิดวิกฤตอีก แล้วก็มีการยึดอำนาจอีกวนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งนี่คือวงจรอุบาทว์ที่สิงสถิตอยู่ในประเทศไทย และพี่น้องประชาชนจำนวนมากใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ จนเริ่มรู้สึกว่า รัฐประหารเป็นเรื่องปกติ เวลาปวดหัวก็ไปซื้อพาราเซตามอล เวลามีวิกฤตก็ไปเรียกทหารออกมา" นายปิยบุตร เปิดญัตติกลางสภาฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563

ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ออกจาก ส.ส.ในสภาฯ มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และที่สุดก็ต้องตัดสินชี้ขาดด้วยมติในสภาฯ ในวันที่ 12 ก.พ. 2563 

เมื่อฟังเสียงของผู้แทนราษฎรในสภาฯ ไปแล้ว ขณะที่เสียงของประชาชนนอกสภาฯ เป็นเช่นไร 'วอยซ์ออนไลน์' ได้ลงพื้นที่ย่านถนนราชดำเนิน และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคนรุ่นใหม่

เริ่มต้นด้วยคำถามแรก คิดอย่างไร กับการรัฐประหารที่ผ่านมาในประเทศไทย ?

"การรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาที่เหมือนการใช้กำลัง ใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาระยะยาวภายในประเทศ เพราะว่าปัญหาภายในประเทศมันเป็นปัญหาที่ฝั่งลึกลงไปต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด ซึ่งการรัฐประหารถ้ามีประสิทธิภาพพอที่จะแก้ปัญหาคงจะไม่มีถึง 13 ครั้ง วนลูปแบบนี้ตลอด ควรจะหาวิธีการที่เป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ การทำรัฐประหารมันส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อคนอื่นด้วย อาจจะเป็นเศรษฐกิจ หรือว่าบุคลากรต่างๆ ที่ทำงานในประเทศ เช่น บางคนอาจจะต้องตกงานจากกระรัฐประหารที่หลายๆ อย่างชะงักไป" น.ส.ณัฐนรี วัย 19 ปี นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ระบุ

เช่นเดียวกับ นักศึกษาอีกคน คือ น.ส.พิศอัมพร วัย 18 ปี บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะเกิดขึ้นมาถึง 13 ครั้งกินเวลายาวนานเกินไป เอาอำนาจไปใช้เพียงแค่คนกลุ่มเดียว ไม่ได้กระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ไม่ได้รับฟังความคิดเห็น ยึดอำนาจไปใช้คนเดียว ไม่ได้ทำให้ประเทศพัฒนาดีขึ้นจากที่เห็นมา 13 ครั้ง

ขณะที่ ชายวัยกลางคน บอกว่า การรัฐประหารบางครั้งมีเหตุผล บางครั้งไม่มีเหตุผล บางครั้งเพื่อตัวเอง บางครั้งเพื่อประชาชน เห็นด้วยในบางครั้ง เพราะว่าบางสิ่งบางอย่างนักการเมืองก็เกินไป ทำจนกระทั่งไม่มีใครเบรกได้ ก็จะอ้างสิทธิ์ว่ามาจากประชาชนอย่างเดียว ทำให้รู้สึกว่าระส่ำระสาย

ส่วน ประชาชนที่ประกอบอาชีพขายผลไม้ย่านถนนราชดำเนิน คนหนึ่งก็บอกว่า "ไม่ชอบการรัฐประหาร เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่ดี แย่มากๆ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอแบบนี้ ค้าขายไม่ได้เลย ตัวเราเองก็ไม่อยากจ่าย คนอื่นก็คงไม่แตกต่างกัน เมื่อก่อนเคยขายได้ยอดเยอะๆ แต่ปัจจุบันตกไปเกินครึ่ง"

ปิยบุตร รัฐประหาร สภา 72.jpg

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการที่พรรคอนาคตใหม่เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

น.ส.ณัฐนรี จาก ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า เห็นด้วย อย่างน้อยก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งที่จะทำให้ประเทศได้ก้าวออกจากกรอบที่เคยอยู่แบบเดิมๆ ก้าวออกไปแล้ว อาจจะดีขึ้นมามากกว่าเดิม การที่มีญัตติการต้านรัฐประหารอย่างน้อยแค่มีจุดยืนที่ต้องการจะแก้ปัญหาตรงนี้ทำให้ประเทศมี movement ที่ก้าวหน้าก็ยังดี

ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ก็เห็นด้วยเช่นกัน เพราะว่าถ้าในอนาคตมีผู้นำที่ไม่ดีก็ควรใช้หลักการตามระบบมากกว่าการรัฐประหาร 

ขณะที่ ชายวัยกลางคน ระบุว่า "ถ้านักการเมืองเกิดการฉ้อฉลขึ้นมาจะมีใครที่มาช่วยพวกเราได้บ้าง เห็นคนไทยแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่ายถืออาวุธจะฟาดฟันกัน ถ้ามีนักการเมืองที่อ้างแต่ประชาชนจะทำอะไรก็ได้ ตรงนี้พรรคอนาคตใหม่คิดยังไง จะเอาใครมาคานอำนาจ ต้องตอบตรงนี้ให้ได้ก่อน ประชาธิปไตยคนไทยชอบ แต่คนไทยใช้ความเป็นประชาธิปไตยไม่เป็น ตอนที่ทหารมีอำนาจธุรกิจสีเทาหายไปหมด พอเลือกตั้งเข้ามาแล้วธุรกิจสีเทาออกมา"

ปิยบุตร-รัฐประหารสุจินดา สุนทร ชาติชาย ปฏิวัติ รัฐประหาร 1021312361.jpgสนธิ คมช รัฐประหาร 2549 0.jpg

ถามในประเด็นสุดท้ายว่า คิดว่าในอนาคตจะมีการเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่

"ถ้าประเทศยังอยู่ในวนลูปแบบนี้ พวกผู้ใหญ่ทั้งหลายยังมีการใช้อำนาจแบบนี้ ก็อาจจะมีการเกิดขึ้นได้" น.ส.ณัฐนรี ระบุ

ส่วน น.ส.พิศอัมพร วัย 18 ปี ระบุว่า "มันเป็นมา 13 ครั้งแล้ว ถ้ายังอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ก้าวไปไหน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้น ไม่มีการจัดการแนวคิดใหม่ๆ ที่จะพัฒนา มันก็ไม่ยากที่จะเกิดครั้งที่ 14"

ขณะที่ ประชาชนซึ่งประกอบอาชีพขายผลไม้ ระบุว่า "น่าจะแยกแยะ เพราะคนที่เข้ามาทำงานการเมืองก็เข้ามาอยู่แล้ว คนที่เป็นทหารก็เป็นไป ทำหน้าที่ใครหน้าที่มัน บางคนเรียนมาเป็นทหารแล้วมาปกครองมันก็ไม่ใช่"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง