นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีที่ กกต. มีมติเรื่องการถือครองหุ้นสัมปทาน รวมทั้งอีก 3 รัฐมนตรีในรัฐบาล ขัดรัฐธรรมนูญ และเตรียมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลใดๆ เพราะการตรวจสอบทุกอย่างก็มีขั้นตอนอยู่แล้ว และเชื่อว่าไม่กระทบการทำงานของตัวเอง ซึ่งขณะนี้การทำหน้าที่ก็มีความคืบหน้าหลายด้าน ทั้งเรื่องการเตรียมตั้งกระทรวงใหม่ จึงไม่กังวลว่าเรื่องดังกล่าวจะกระทบกับการทำงานในรัฐบาล
อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นนี้ หากฝ่ายการเมืองจะนำไปเป็นประเด็นเพื่อโจมตี ส่วนตัวก็ไม่กังวลว่าจะกระทบกับการทำหน้าที่ในพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่การลงสนามการเมือง มักจะมีการหยิบยกประเด็นต่างๆ มาโจมตีกัน พร้อมย้ำว่า กระบวนการทุกอย่างให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ซึ่งไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าในการประชุม กกต. เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาที่ประชุม กกต. ได้มีการประชุมลับพิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวน กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบ รัฐมนตรี 4 รายคือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐเข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
โดยที่ประชุมมีมติเห็นว่าการถือครองหุ้นของทั้ง 4 รัฐมนตรีเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง เห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานกกต.ดำเนินการยกร่างคำร้อง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาและประธานกกต.ลงนาม เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเผยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ต้องทำหน้าที่วินิจฉัย รัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรี รวม 4 คน ประกอบด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง กรณีถือครองหุ้นสัมปทาน
ซึ่งขณะนี้กำลังส่งเรื่องให้กกต.ชุดใหญ่พิจารณา เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ว่า จากนี้ กกต.จะทำหน้าที่เป็นอัยการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 4 รัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต.
ส่วนรัฐมนตรีจะต้องยุติบทบาทตั้งแต่ตอนนี้เลยหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับศาลธรรมนูญจะพิจารณา หากมีคำสั่งให้ยุติก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่หากทั้ง 4คนจะลาออกเองก็สามารถทำได้ ไม่มีข้อห้าม ทั้งนี้ คาดว่าคดีความจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน อีกทั้งส่วนตัวไม่รู้ว่าหากทั้ง 4 คนมีความผิดจะต้องปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่
เบื้องต้น ทั้ง 4 รัฐมนตรีได้ทราบเรื่องนี้ก่อนแล้ว เพราะได้มีการให้ข้อมูลกับ กกต. เป็นระยะก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้ง 4 คนไม่เคยมาขอคำแนะนำจากตนในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะต้องปรึกษาทีมกฎหมายของตัวเองอยู่แล้ว ส่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่จำเป็น
ขณะที่นายอภิสิทธ์ เวชาชีวะ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 4 รัฐมนตรีเข้าไปมีหุ้นส่วนในสัมปทานของรัฐ พร้อมร่างคำร้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นั้น เป็นเรื่องของพรรคนั้น ๆ ที่จะต้องดำเนินการ และ แต่ละพรรคก็มีบรรทัดฐานต่างกัน อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความตั้งใจที่จะยกระดับบรรทัดฐานพรรคการเมืองดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วน 4 รัฐมนตรีที่ถูกชี้มูลความผิดควรลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีอำนาจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง