ไม่พบผลการค้นหา
'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'วอยซ์ออนไลน์' หลังนำคณะผลิตเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์เพื่อหยุดยั้งโควิด-19 พร้อมเสนอมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไปยังรัฐบาลในการคลายล็อกมาตรการกึ่งปิดกึ่งเปิดก่อนประชาชนจะอดตายจากวิกฤตของไวรัสร้าย

"ที่ผ่านมาเรากึ่งปิดกึ่งเปิดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การกึ่งปิดกึ่งเปิดทำให้เศรษฐกิจพังหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย กลุ่มคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม กลุ่มคนที่อยู่ในแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้าหมูปิ้ง คนร้อยพวงมาลัย กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ทำให้ความกังวลของประชาชนตอนนี้จะติดไวรัสตายก่อนหรือจะอดตายก่อน นี่คือโจทย์ใหญ่" 

'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 กินเวลามาใกล้ครบ 1 เดือนเต็ม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ขอให้ประชาชน 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ'

ผลกระทบจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศต้องหยุดชะงัก ประชาชนที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตต้องหยุดทำมาค้าขายจากมาตรการข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

มาตรการเยียวยาด้วยเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน กลับไม่ครอบคลุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ มีผู้ลงทะเบียนขอเยียวยากว่า 28 ล้านคน แต่รัฐบาลเห็นชอบให้เยียวยาได้เพียง 14 ล้านคน

ธนาธร


" ถ้ายังดำเนินนโยบายกึ่งปิดกึ่งเปิดแล้วยังไม่มีการบรรเทาเยียวยา ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมหาศาล ชีวิตของผู้คนจะเป็นหนี้มากขึ้น รายได้หดน้อยลง แน่นอนที่สุดอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นการฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้น เพราะคนมันไม่มีความหวัง"

'ธนาธร' ใช้โอกาสที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคครบ 2 เดือน นำคณะก้าวหน้า จับมือกับบริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ศิษย์เก่าวิศวะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ร่วมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา(โควิด-19) เพื่อมอบแก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยคณะได้ผลิต Modula ARI Clinic ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการแรงดันบวกสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่ง และห้องความดันลบสำหรับผู้เสี่ยงติดเชื้อและผู้ถูกตรวจอีกด้านหนึ่ง ในรูปแบบที่ยกมาติดตั้งและถอดออกได้อย่างสะดวก

รวมทั้งผลิต Patient Transportation Chamber คืออุปกรณ์ติดเสริมเตียงเคลื่อนย้าย ด้วยระบบแรงดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง 

เครื่องมือดังกล่าวจะถูกส่งมอบให้กับโรงพยาบาล 12 แห่งที่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน โดยคณะก้าวหน้าและทีมผู้ผลิตจะส่งมอบ Modula ARI Clinic จำนวณ 10 ชิ้น และ Patient Transportation Chamber จำนวณ 30 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย. และวันที่ 2-3 พ.ค. 2563

"อดีตพรรคอนาคตใหม่มีหลายคนจบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีส่วนช่วยออกแบบตัวนี้ก็ปรึกษาผม ผมก็ดูเห็นว่ามี Modula ARI Clinic คลินิกเคลื่อนที่ คลินิกแรงดัน แล้วก็ตัวเตียงผู้ป่วยแรงดันลบ ทั้งสองตัวเป็นอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลต้องการสู้กับศึกไวรัสโคโรนา เมื่อเราเห็นว่าพอมีเครือข่ายมีความรู้ความสามารถมีทรัพยากรสามารถทำได้ก็ติดต่อโรงพยาบาล 12 โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดใกล้เคียงซึ่งมีการระบาดแพร่ในวงกว้าง ก็จะจัดความสำคัญให้กลุ่มตรงนี้ก่อน" 

ธนาธร

ผู้นำคณะก้าวหน้าบอกว่า ขณะนี้มี 12 โรงพยาบาลที่ติดต่อมาแต่ละที่มีความต้องการแตกต่างกัน แต่ข้อจำกัดของคณะนั้นไม่มีทรัพยากรไปติดต่อทุกโรงพยาบาลได้ ถ้าเกิดมีโรงพยาบาลไหนต้องการ Modula ARI Clinic หรือเตียงผู้ป่วยแรงดันลบที่เคลื่อนย้ายให้ติดต่อมายังคณะก้าวหน้าได้

"เราพร้อมสนับสนุนเพิ่มเติม แต่ที่ผ่านมาข้อมูลระบบการแพทย์ไม่ได้ส่งทุกโรงพยาบาลต้องโทรฯ ติดต่อทุกโรงพยาบาลทำให้การติดต่อไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร วันนี้โรงพยาบาลไหนมีความต้องการใช้จริงๆ ให้แจ้งพวกเรากลับมา" 

อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พูดถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังจะครบ 1 เดือนของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า "เวลาเราบอกให้อยู่บ้านเพื่อชาติ ประชาชนอยู่บ้านเพื่อชาติ กึ่งปิดกึ่งเปิดจนจะอดตายอยู่แล้ว คำถามคือชาติทำอะไรให้พวกเขาบ้างตอนนี้ชาติไม่ได้ทำอะไรให้พวกเขานะครับ และพวกเขากำลังจะอดตาย"

'ธนาธร' เสนอถึงแผนมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเป็นการชั่วคราวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือผ่อนคลายมาตรการกึ่งปิดกึ่งเปิด ให้เป็นล็อกคลายล็อกคลายสลับกันไป โดยช่วงที่ล็อกดาวน์ก็เตรียมความพร้อมกับการรับมือคลื่นระลอกใหม่ที่จะเกิดจากการคลายล็อก 

"รอบแรกคลื่นไวรัสโคโรนาที่เข้ามากระแทกสังคมไทยรอบแรก ต้องยอมรับกันตรงๆ เราไม่มีความพร้อมเลย ทั้งความรู้ไม่พอ เครื่องมือทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ความรู้ความเข้าใจไม่พอทั้งระบบสาธารณสุข แต่เดือนกว่าที่ผ่านมา ประชาชนเข้าใจตื่นตระหนก และหาทางป้องกันตัวเองได้มากขึ้น ภาครัฐก็พร้อมมากกว่าเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เราทำให้สาธารณสุขพร้อมขึ้นไปอีก จำได้ไหมระลอกแรกเข้ามา เจลไม่พอ หน้ากากไม่พอ ประชาชนก็ไม่รู้ ผู้นำประเทศบางคนก็บอกว่านี่เป็นไข้หวัดธรรมดา"

เขาบอกว่า เมื่อล็อกดาวน์กึ่งปิดกึ่งเปิดมาระยะหนึ่งแล้วตอนนี้ควรจะผ่อนคลายมาตรการอีกครั้ง เพราะด้วยความพร้อมที่ดีขึ้นกว่าเดิม และเป็นไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจก็อาจต้องคลายล็อก

ส่วนที่ยังจำเป็นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก หรือพื้นที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่ากลุ่มคนที่ตอนนี้สามารถระบุได้แล้วว่าไปที่ไหนมาบ้าง และเคยใกล้ชิดกับใครบ้างกลุ่มเสี่ยง ก็ให้ล็อกเฉพาะจุดให้เล็กลง โดยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมา แน่นอนที่สุดกราฟตัวเลขที่เคยนิ่งและลดลงจะต้องสูงขึ้นถ้าเราคลายล็อก แต่กลับสูงขึ้นรอบนี้เราพร้อมมากกว่าเดิม เราไม่ได้หมายความว่าคนที่โดนไวรัสทุกคนจะป่วยมีอาการ 

"เราควรใช้เวลาช่วงที่ล็อกกึ่งปิดกึ่งเปิดเตรียมการสำหรับเวฟต่อไป เมื่อตัวเลขมันเริ่มขึ้นก็ค่อยล็อกแล้วค่อยคลาย การคลายล็อกแต่ละรอบ แต่เติบโตของคนที่ติดเชื้อจะน้อยลง คลื่นจะเล็กลงเรื่อยๆ คลื่นลูกแรกกระทบสูง เมื่อเริ่มคลายจะไม่สูงเท่ารอบแรกแล้ว แล้วมันจะลงเมื่อล็อกลงต้องอาศัยการทำงานแบบนี้จนกว่าจะมีวัคซีน เราต้องทำแบบนี้จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาโรคนี้ได้"

ธนาธร 0421_122651.jpg


ธนาธร 421_122648.jpg

ด้วยสถานการณ์ที่ใกล้จะครบ 1 เดือนของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตทั่วประเทศ ทำให้ 'ธนาธร' ตอบกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ทันทีว่า สถานการณ์ตอนนี้ควรคลายล็อกกึ่งปิดกึ่งเปิดได้แล้ว

"ปัจจุบันนี้มาตรการบรรเทา หนึ่ง ไม่ชัดเจน สอง ไม่ทั่วถึง ทำให้คนที่มีรายได้น้อยอดตาย ยากลำบากกันหมดทั่วประเทศ ดังนั้น ถ้ายังดำเนินนโยบายกึ่งปิดกึ่งเปิดแล้วยังไม่มีการบรรเทาเยียวยา ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมหาศาล ชีวิตของผู้คนจะเป็นหนี้มากขึ้น รายได้หดน้อยลง แน่นอนที่สุดอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นการฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้น เพราะคนมันไม่มีความหวัง มันไม่สามารถทำมาหากินได้"

ธนาธร
"เราก็ไม่สามารถบอกได้ชี้ชัดว่าคนนี้เหมาะ คนนี้ไม่เหมาะ ในภาวะแบบนี้หลายประเทศ ก็ให้เงินช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่พิสูจน์ความจน"

แม้วันนี้เขาจะหมดสิทธิการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ไม่มีสิทธิแม้กระทั่งเข้าไปนั่งในสภาฯ เป็นตัวแทนให้กับประชาชน

แต่วันนี้ 'ธนาธร' ซึ่งเคยถึงขั้นท้าชิงตำแหน่งนายกฯกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อกลางปี 2562 วางบทบาทนอกสภาฯ โดยส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลที่กำลังมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า

"รัฐบาลบอกว่าเราควรจะอยู่บ้านเพื่อชาติ เราควรอย่าอยู่ใกล้กัน เราควรจะต้องทำงานที่บ้าน คนเหล่านี้เมื่อออกมาตรการกึ่งปิดกึ่งเปิดขึ้นมาเขาอยู่บ้านเพื่อชาติ แต่เขาไม่ได้รับการเยียวยา กึ่งปิดกึ่งเปิดถ้าจะทำต้องทำต่อไป ต้องเยียวยาโดยไม่พิสูจน์ความจน ต้องเยียวยาโดยถ้วนหน้า ต้องเอาหลักการเรื่อง UBI (Universal Basic Income : นโยบายแจกเงิน) เข้ามาใช้ให้ทุกคนถ้วนหน้าเพื่อจะทำให้มาตรการกึ่งปิดกึ่งเปิดสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ถ้วนหน้าแล้วยังดำเนินต่อไปอย่างนี้ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นล้านๆ คนจะอดตาย"

ส่วนปัญหาจากมาตรการแจกเงินเยีวยาย 5,000 บาทไม่ทั่วถึงนั้น 'ธนาธร' เห็นว่ามาตรการดังกล่าวควรต้องเยียวยาอย่างถ้วนหน้าและจะมานั่งพิสูจน์ความจนเหมือนที่ทำในปัจจุบันไม่ได้

"คุณจะรู้ได้ไงว่าใครได้รับผลกระทบใครไม่ได้รับผลกระทบ ผมลงพื้นที่ชุมชนมา ผมเห็นชัดเลย ว่าคนในชุมชนได้รับผลกระทบทั้งชุมชน แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถบอกได้ชี้ชัดว่าคนนี้เหมาะ คนนี้ไม่เหมาะ ในภาวะแบบนี้หลายประเทศ ก็ให้เงินช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า ไม่ใช่พิสูจน์ความจน เราเคยได้ยินเรื่องอยากให้คนไทยสมานฉันท์ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อยากให้เราปรองดองกันไหมครับ ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันความสมานฉันท์กันไม่ได้พิสูจน์ในเวลาแห่งความสุข จะพิสูจน์ว่าสังคมจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้หรือไม่ มันพิสูจน์ในเวลาที่ยากลำบาก ช่วงเวลาแห่งความสุขสบายไม่เคยพิสูจน์สังคม ช่วงเวลาสาหัสเป็นเครื่องพิสูจน์สังคมมีความเข้มแข็งสมานฉันท์ไหม"

ทันทีที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ประกาศพร้อมกับ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องมาการแก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2563 ซึ่งรวมเม็ดเงินจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.เป็นเม็ดเงินถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท

ธนาธร

อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มองว่า เพื่อไม่ให้เม็ดเงินดังกล่าวสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อเงินกู้ไม่ใช่รายได้ และคนรุ่นต่อไป คนที่ทำงานในปัจจุบันจะต้องจ่ายภาษีคืนหนี้ก้อนดังกล่าว ดังนั้น ควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"แต่ไม่ใช่ไปใช้เพื่อเอื้อให้กับคนรวยแล้วหลงลืมคนจน" 

เขาเสนอถึงการใช้เม็ดเงินจากการกู้เงินให้เกิดประโยชน์โดยเห็นว่า ข้อแรก ควรนำไปสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะงานอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศได้ เอาโจทย์ของสังคมมาสร้างความต้องการ เอาความต้องการมาสร้างอุตสาหกรรม เอาอุตสาหกรรมมาสร้างงานที่จะได้งานมีคุณภาพแก้ปัญหาสังคมด้วย 

ข้อที่สอง นำเม็ดเงินอัดลงไปที่ท้องถิ่น อย่าให้งบฯ 2 ล้านล้านนี้กระจุกตัวอยู่ที่รัฐส่วนกลางที่มีส่วนตัดสินใจอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ต้องให้ท้องถิ่นตัดสินใจเอง

"โครงการท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เล็ก ไม่ใช่โครงการที่ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นขุดร่องน้ำ ทำแหล่งน้ำเพิ่มเติม ไม่ว่าจะทำโรงเรียน โรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น กระบวนการตัดสินใจสั้นกว่าที่จะมากองที่รัฐบาลส่วนกลาง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท"

ข้อที่สาม สร้างรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนให้ดีกว่านี้ 

"สิ่งสำคัญที่เราเห็นไวรัสโคโรนา คือ ระบบสวัสดิการของประเทศไทยยังไม่ดีพอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ถ้าเราอยากสร้างสังคมใหม่ฟื้นฟูประเทศหลังจากหยุดยั้งโคโรนาได้แล้ว ถ้าเราจะฟื้นฟูประเทศรอบนี้ เราต้องหันใส่ใจคุณภาพชีวิตความมั่นคงของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ ดังนั้น งบฯ ตัวนี้ต้องถูกแบ่งไปสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้ให้คนมั่นคง คนจะมีความคิดสร้างสรรค์กล้าลองถูกลองผิด อย่างน้อยตัวเองมีที่ยืนในสังคมไม่ต้องอดตาย"

'ธนาธร' ย้ำว่า "ผมเสนอหลักคิดอย่าให้มันเสียของ ทำวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่านี้น่าอยู่กว่านี้"

เมื่อถามถึงแนวทางการระดมความเห็นจาก 20 เศรษฐีชั้นนำในประเทศของรัฐบาล 'ธนาธร' ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพราะยังไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวของรัฐบาล แต่ถ้าเป็นโมเดลที่คณะก้าวหน้าได้ทำร่วมกับกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับกลุ่มแพทย์วชิรพยาบาลที่ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน เขาก็พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะการผลิตเครื่องมือครั้งนี้ไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่เป็นการกุศลเพื่อช่วยเหลือสังคม

"ต้องชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ ต้องชื่นชมหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานอย่างแข็งขัน ทำให้การจัดการแพร่ระบาดโคโรนาในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ต้องขอขอบคุณคนทีเป็นหน้าด่าน ขอขอบคุณประชาชนที่หลีกเลี่ยงการพบปะกัน ทำให้ตัวเลขดีขึ้น แต่สิ่งที่กังวลมากกว่านี้คือการใช้กฎหมายไม่ปกติมากเกินไปกว่าการจัดการการแพร่ระบาด จนลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ใช้กฎหมายนอกจากปกติเป็นเครื่องมือปิดปากตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เป็นเครื่องมือในการจับคนเห็นต่าง ผมกลัวว่าจะเลยเถิดไปถึงขั้นนั้น"

ธนาธร

หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกนั้น 'ธนาธร' มองว่าต้องคิดถึงการล็อกคลายจากมาตรการกึ่งปิดกึ่งเปิดและควรมองเป็นภาพรวม

'วอยซ์ออนไลน์' ถามทิ้งท้าย 1 เดือนของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับไวรัสร้ายตัวนี้ 'ธนาธร' ยกเครดิตให้กระทรวงสาธารณสุขทีทำงานอย่างแข็งขัน ซึ่งเราต้องให้กำลังใจเขาที่ช่วยกันยับยั้งไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น

ถามย้ำว่า หลังจบศึกโควิด-19แล้วรัฐบาลควรจะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่

'ธนาธร' ยิ้มกับคำถามดังกล่าวพร้อมหัวเราะก่อนออกตัวว่า "เดี๋ยวก็ดูกันครับ คงต้องดูกัน"

"ผมคิดว่าวันนี้เป็นวันที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตระดับโลกก็คงต้องให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปด้วยกัน หลังจากนั้นค่อยว่ากัน แต่อย่างที่ผมบอกอย่าให้การจัดการปัญหาไวรัสเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะรัฐบาล อย่าให้ตรงนี้เป็้นการตรวจสอบรัฐบาลเพราะเงินเหล่านี้มาจากภาษีประชาชนทั้งนั้น มีหรือไม่มีโคโรนาก็มีสิทธิตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง