ไม่พบผลการค้นหา
บุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์-วิทยาการต่างๆ ร่วมพิธีประกาศรางวัล 'อิกโนเบล 2019' ที่จัดขึ้นเพื่อล้อเลียนรางวัลโนเบล โดยผลงานที่ได้รางวัลปีนี้รวมถึงงานวิจัยที่แนะนำให้ฝึกศัลยแพทย์ด้วยวิธีใกล้เคียงกับการฝึกสุนัข และงานวิจัยที่ศึกษาว่าเงินสกุลไหน 'สกปรก' เพราะมีเชื้อโรคมากสุด

พิธีประกาศรางวัลอิกโนเบลประจำปี 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 29 ที่โรงละครแซนเดอร์ส มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ช่วงค่ำวันที่ 12 ก.ย.2019 ตรงกับช่วงเช้าวันที่ 13 ก.ย.ตามเวลาไทย โดยคณะกรรมการได้มอบรางวัลให้แก่ผลงานที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านต่างๆ ที่แปลกแหวกแนว ทั้งยังสามารถ "สร้างเสียงหัวเราะ และกระตุ้นให้คนไปคิดต่อ" เพราะเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นล้อเลียนพิธีมอบรางวัลโนเบลที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

แม้ในปีแรกๆ จะมีคนในแวดวงวิทยาศาสตร์วิจารณ์ว่าการมอบรางวัลอิกโนเบลส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของงานวิจัยและคนในแวดวงวิชาการ แต่ 'มาร์ก อะบราห์ม' ผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ และผู้จัดพิมพ์วารสารรวบรวมงานวิจัยแปลกๆ Improbable Research ยืนยันว่า การทำงานวิจัยที่หลุดจากขนบทั่วไปเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะผู้ที่ทำงานวิจัยแหวกขนบแวดวงวิชาการจนได้รางวัลอิกโนเบลหลายราย ท้ายที่สุดก็เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเช่นกัน ทำให้งานประกาศรางวัลอิกโนเบลได้รับความสนใจจากบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปี

ภายในพิธีมอบรางวัลปีนี้ยังมีการไว้อาลัยแก่ 'รอย กลอบเบอร์' ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วด้วยวัย 93 ปี เนื่องจากกลอบเบอร์เป็นผู้ที่เข้าร่วมพิธีประกาศรางวัลอิกโนเบลเป็นประจำ ทั้งยังช่วยผู้จัดงานกวาดโรงละครทุกครั้งที่เสร็จพิธี

ส่วนผู้ได้รับรางวัลอิกโนเบลแต่ละสาขาในปีนี้ จะได้เงินรางวัล 10 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว ซึ่งเป็นเงินสกุลที่ถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว จึงไม่มีมูลค่าใดๆ

2018-09-14T033031Z_1296244915_RC1272780D10_RTRMADP_3_USA-IGNOBEL.JPG

สาขาแพทยศาสตร์ศึกษา: งานวิจัยอ้างอิงทฤษฎีการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขการกระทำ (operant learning) ของ 'แคเรน ไพรเออร์' และ 'เทเรซา แมคคีออน' จากสหรัฐอเมริกา เป็นการศึกษาพฤติกรรมการฝึกอบรมและเรียนรู้การผ่าตัดของศัลยแพทย์กระดูก โดยการใช้ 'คลิกเกอร์' แบบเดียวกับการฝึกสุนัข

งานวิจัยพบว่าวิธีนี้ช่วยให้ศัลยแพทย์เรียนรู้วิธีการผ่าตัดที่ถูกต้องได้อย่างสงบและแม่นยำ โดยไม่ต้องมีการถกเถียงจนเกิดแรงกดดันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผลงานนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Clinical Orthopedics and Related Research เมื่อปี 2015 

สาขาวิศวกรรมศาสตร์: การออกแบบเครื่องเปลี่ยนผ้าอ้อมสำหรับทารก โดบเจ้าของผลงาน คือ 'อิมาน ฟาราห์บัคช์' จากอิหร่าน

สาขาเศรษฐศาสตร์: งานวิจัยที่ศึกษาว่าเงินสกุลไหน 'สกปรกที่สุด' จัดทำโดย ฮาบิบ เกดิก, ทิโมธี เอ.วอส และแอนเดรีย วอส จากตุรกี, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ร่วมกันทดสอบว่าธนบัตรเงินสกุลไหนเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียเอาไว้มากที่สุด

คณะวิจัยได้ศึกษาว่ามีแบคทีเรียก่อโรคชนิดใดบ้างอยู่บนธนบัตรที่นำมาทดสอบ ได้แก่ เงินยูโร (สหภาพยุโรป) ดอลลาร์ (สหรัฐฯ) ดอลลาร์ (แคนาดา) ลูนา (โครเอเชีย) ลิว (โรมาเนีย) ดีแรห์ม (โมรอกโก) รูปี (อินเดีย)

ผลวิจัยพบว่าเงินลิวโรมาเนียมีแบคทีเรียก่อโรคที่ทนทานต่อยาฆ่าเชื้อมากที่สุด รวม 3 ชนิด ส่วนเงินสกุลอื่นๆ พบแบคทีเรียเพียง 2 และ 1 ชนิด

สาขาแพทยศาสตร์: งานวิจัยคุณค่าโภชนาการของพิซซ่า จัดทำโดย 'ซิลวาโน แกลลัส' จากอิตาลี พร้อมด้วยคณะนักวิจัยสมทบจากเนเธอร์แลนด์ พบข้อมูลบ่งชี้ว่าพิซซ่ามีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงของโรคบางโรคและชะลอการเสียชีวิตได้ แต่ต้องเป็นพิซซ่าที่ทำขึ้นและรับประทานในอิตาลีเท่านั้น

สาขากายวิภาค: งานวิจัยอุณหภูมิไส้เลื่อนถุงอัณฑะของกลุ่มบุรุษไปรษณีย์ในฝรั่งเศส โดยเปรียบกับผู้ที่สวมเสื้อผ้าและผู้ที่เปลือยกาย พบว่าอุณหภูมิไส้เลื่อนถุงอัณฑะจะเป็นแบบ 'อสมมาตร' เป็นผลงานของ 'โรแฌร์ มิเยิสส์' และ 'บูร์ราส์ บงโกดิฟา; จากฝรั่งเศส

2019-09-13T000251Z_172206018_RC19346AE830_RTRMADP_3_USA-IGNOBEL.JPG

สาขาสันติภาพ: งานวิจัยเรื่องการชี้วัดระดับความพึงพอใจที่เกิดจากการ 'เกาถูกที่คัน' เป็นการศึกษาเปรียบเทียบในเชิงจิตฟิสิกส์และภูมิลักษณ์ ร่วมจัดทำโดย 'กาดา เอ. บิน ไซยิฟ' 'อเล็กซานดรู ปาปัว' 'ลิเลียนา บานารี' 'ฟรานซิส แมกโกลเน' 'ชอว์น จี. ควาทรา' 'ยองฮกชาน' และ 'กิล โยชิโปวิตช์' จากอังกฤษ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา

สาขาจิตวิทยา: งานวิจัยจากสมมติฐานว่าการคาบปากกาทำให้คนยิ้ม และคนมีความสุขขึ้นเพราะได้ยิ้ม โดยใช้วิธีศึกษาข้อมูลด้วยการวัดทัศนคติโดยไม่ให้ผู้ที่ถูกศึกษารู้ตัว พบว่าคนที่ยิ้มเพราะคาบปากกาไว้ในปาก ไม่ได้เกิดจากความสุข จัดทำโดย ฟริตซ์ สแตร็ก จากเยอรมนี

สาขาชีววิทยา: งานวิจัยแมลงสาบที่ถูกควบคุมด้วยแถบแม่เหล็ก พบแมลงสาบที่ตายแล้วกับแมลงสาบที่ยังไม่ตาย มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อแถบแม่เหล็ก 'แตกต่างกัน' จัดทำโดย หลิงจุนคง, เฮอร์เบิร์ต ครีแพซ, แอกเนียสกา กอเรชกา, อเล็กซานดรา เออร์บาเนก, เรนเนอร์ ดึมเค และโทมาส ปาเตเร็ก จากสิงคโปร์, จีน, ออสเตรเลีย, โปแลนด์, สหรัฐฯ และบัลแกเรีย

สาขาฟิสิกส์: งานวิจัยเพื่อหาสาเหตุว่า 'วอมแบต' สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ขี้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมได้อย่างไร จัดทำโดย แพทริเชีย หยาง, อเล็กซานเดอร์ ลี, ไมล์ส ชาน, อลิน มาร์ติน, แอชลีย์ เอ็ดเวิร์ดส์, สกอตต์ คาร์เวอร์ และเดวิด หู จากสหรัฐฯ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวีเดน และอังกฤษ

สาขาเคมี: งานวิจัยเพื่อคำนวณปริมาตรน้ำลายที่ร่างกายเด็ก 5 ขวบผลิตขึ้นโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน โดยศึกษาเปรียบเทียบทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ทั้งยังวัดจากน้ำลายที่เกิดหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ตื่นนอน กินขนม หรือกินอาหารแต่ละมื้อ จัดทำโดยชิเงรุ วาตานาเบะ, มิเนโกะ โอนิชิ, คาโอริ อิมาอิ, เอย์จิ คาวาโนะ และเซย์จิ อิงะราชิ จากญี่ปุ่น

2019-09-13T000617Z_55219779_RC1A189083C0_RTRMADP_3_USA-IGNOBEL.JPG

ที่มา: The Guardian/ Huff Post/ Improbable Research