ไม่พบผลการค้นหา
ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้ประมาณ 1,000 คนเตรียมฟ้องร้องบริษัทแอลเลอร์แกน ที่ยังผลิตซิลิโคนเสริมหน้าอกแบบผิวทรายต่อ แม้ WHO ออกมาเตือนตั้งแต่ 3 ปีก่อนว่าซิลิโคนชนิดนี้อาจก่อให้เกิดมะเร็ง

ชาวเกาหลีใต้ประมาณ 1,000 คนที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนแบบผิวทราย เตรียมร่วมกันฟ้องร้องบริษัทแอลเลอร์แกน ที่ยังผลิตซิลิโคนแบบผิวทรายออกมาขาย โดยไม่เน้นย้ำกับผู้บริโภคถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แม้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จะออกมาเตือนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2016 ว่าซิลิโคนชนิดนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สัปดาห์ก่อน กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้กล่าวว่า ผู้หญิงวัยประมาณ 40 ปี เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนแบบผิวทรายไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน และเพิ่งพบว่าเป็นโรค Breast Implant Associated – Anaplastic Large Cell Lymphoma (BIA-ALCL) หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นมะเร็งแบบพบได้ยาก

อีซึงจุน ทนายความที่กำลังเตรียมยื่นฟ้องคดีนี้ระบุว่า ในเกาหลีใต้ มีผู้หญิงประมาณ 50,000 - 80,000 คนที่เสริมหน้าอกด้วยผลิตภัณฑ์ของแอลเลอร์แกน ทั้งเพื่อความงามและเพื่อแก้ไขสรีระหลังการรักษาโรคมะเร็งเต้านม นับตั้งแต่กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็งจากการเสริมหน้าอก เขาก็ได้รับโทรศัพท์กว่า 1,000 สายจากคนที่พร้อมจะร่วมกันฟ้องร้องบริษัทแอลเลอร์แกน

ศัลยแพทย์บางคนฉวยโอกาสในช่วงที่หลายคนกำลังวิตกเรื่องซิลิโคนเสริมหน้าอก โดยคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งในย่านกังนัมของกรุงโซลระบุว่า มีผู้หญิงหลายคนที่ต้องการจะเปลี่ยนซิลิโคนเสริมหน้าอก ดังนั้น จะต้องรีบจองคิวกัน เพราะคิวศัลยกรรมและปรึกษาแพทย์ในเดือนส.ค.เต็มหมดแล้ว ขณะที่อีกคลินิกโฆษณาว่าจะใช้ซิลิโคนที่ปลอดภัยและ “ธรรมชาติ” มาเปลี่ยนแทนซิลิโคนของแอลเลอร์แกน

ผู้หญิงวัย 31 ปีคนหนึ่งที่เสริมหน้าอกเมื่อปี 2017 กล่าวว่า ขณะนั้น คลินิกแนะนำว่าผลิตภัณฑ์ของแอลเลอร์แกนที่มีราคาแพง และปลอดภัยที่สุด แต่ตอนนี้มีประกาศว่าจะต้องรีบเปลี่ยนให้เร็วที่สุด ทำให้เธอรู้สึกโกรธมาก โดยการนำซิลิโคนออกต้องใช้เงิน 5-6 ล้านวอน (130,000 - 150,000 บาท) และหากจะเปลี่ยนซิลิโคนต้องใช้เงิน 14 - 17 ล้านวอน (360,000 - 430,000 บาท)

คิมแจอู ศัลยแพทย์ที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอลเลอร์แกนกล่าวว่า ศัลยแพทย์ตกแต่งในเกาหลีใต้ต่างรู้กันมาหลายปีแล้วจากการประชุมนานาชาติว่า ผลิตภัณฑ์ของแอลเลอร์แกนมีปัญหา แต่เขาไม่แน่ใจว่าศัลยแพทย์ทั้งหมดได้เตือนลูกค้าหรือไม่

ทั้งนี้ จองจุน จากโรงพยาบาลกังนัมเซฟเวอแรนซ์ของมหาวิทยาลัยยอนเซกล่าวว่า คนที่เสริมหน้าอกไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเอาซิลิโคนออก นอกจากจะมีอาการผิดปกติใดๆ แม้แต่ในสหรัฐฯ ที่มีคนเป็นมะเร็งหลังเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนของแอลเลอร์แกนมากที่สุด องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ก็ยังระบุว่าไม่จำเป็นต้องเอาซิลิโคนออก นอกจากจะมีอาการใดๆ และอัตราการเกิดความผิดปกติก็ยังต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3,000 คน

นอกจากเกาหลีใต้แล้ว ผู้หญิง 2 คนในสหรัฐฯ และผู้หญิง 20 คนในอังกฤษก็รวมตัวกันฟ้องร้องผู้ผลิตซิลิโคนเสริมหน้าอก โดยศัลยแพทย์ในอังกฤษกล่าวว่า เหยื่อเหล่านี้ถูกปฏิบัติเกือบเหมือน 'หนูตะเภา' ที่ถูกทดลองโดยไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่พวกเขาอาจประสบ โดยมีคนอังกฤษเป็นมะเร็งหลังเสริมหน้าอกมากกว่า 50 คน และมีอีกหลายร้อยคนทั่วโลก

ที่มา : Chosun, Telegraph, Insider