ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทย มีเสียงร้องจากประชาชนและภาคการขนส่งให้รัฐบาลหาแนวทางลดราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ได้สนใจต่อความเดือดร้อนเหล่านี้อย่างจริงจัง

ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบวันละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลิตได้เองวันละ 100,000 บาร์เรล โดยจะนำน้ำมันดิบที่นำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป (เช่น เบนซิน /ดีเซล) ส่วนน้ำมันดิบที่ผลิตได้เองจะส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ เพราะเป็นน้ำมันที่ปนเปื้อนสูง(มีโลหะหนักจำนวนมาก) และโรงกลั่นในไทยไม่สามารถกลั่นได้

น้ำมันที่กลั่นได้จะนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยใช้น้ำมัน (ทั้งดีเซลและเบนซิน)ราว 800,000-900,000 บาร์เรลต่อวัน (1 บาร์เรล = 159 ลิตร)

สาเหตุที่ราคาน้ำมันในไทยแพงมาจากหลายปัจจัย เช่น 1.เก็บภาษีมากเกินไป 2.เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ได้ถูกใช้เพื่อลดราคาน้ำมัน และ 3.การสนับสนุนไบโอดีเซลที่มีราคาแพง

การเก็บภาษีที่มากเกินไป

 ในราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประชาชนต้องแบกรับภาษีชนิดต่างๆ 30-40% ของราคาน้ำมัน

เช่น ราคาน้ำมัน Gasohal 95 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ลิตรละ 31.65 บาท มีต้นทุนราคาหน้าโรงกลั่น 19.68 บาท /ภาษีต่างๆรวมแล้ว 7.15 บาท /ค่าการตลาด 2.74 บาท /เงินเข้ากองทุนน้ำมันแห่งชาติและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน รวม 0.72 บาท

ภาษีที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันมากที่สุดคือ ภาษีสรรพสามิต โดยเก็บจากน้ำมัน Gasohal 95 ลิตรละ 5.85 บาท (เบนซินไร้สารตะกั่ว ลิตรละ 6.50 บาท) และเก็บจากน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5.80 บาท ซึ่งในแต่ละปีภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดเก็บได้มีประมาณ 2.3 แสนล้านบาท เป็นรายได้จากภาษีอันดับ 4 รองจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ,ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดเป็น 9% ของรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งหมดของประเทศ

สาเหตุนี้เอง อาจทำให้รัฐบาลเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะรัฐบาลก็ไม่รู้จะหารายได้จากส่วนไหนมาทดแทน

เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ได้ถูกใช้เพื่อลดราคาน้ำมัน  

ในปี 2563 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลง มีอยู่ราว 40,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 7,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีมติให้กู้เงินจากรัฐบาล จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ตรึงราคาเชื้อเพลงให้ถึงเดือนเมษายน 2565

เงินของกองทุนน้ำมันเชื่อเพลิงส่วนใหญ่ ถูกนำไปใช้ใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. การตรึงราคาแก๊ส LPG ที่ใช้หุงต้มในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯต้องพยุงราคาแก๊ส LPG ราว 63 บาท ต่อถังขนาด 15 ลิตร เพื่อให้ราคาแก๊ส LPG ในประเทศคงที่ในราคา 318 บาทต่อถัง(15ลิตร) แม้ราคา LPG ในตลาดโลกจะปรับขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาตรึงราคาเดือนละ 1,400 ล้านบาท

โดย LPG ของไทย มาจาก 3 แหล่งหลัก จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 62% จากโรงกลั่นน้ำมัน 34% (ในประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมัน 7แห่ง) และจากการนำเข้า 4% แม้จะผลิตได้เองในประเทศถึง 62% แต่ราคา LPG ที่จำหน่ายในไทยกลับอ้างอิงราคาตลาดของซาอุดิอาระเบีย

2.เงินกองทุนน้ำมันฯส่วนใหญ่อีกส่วนหนึ่ง ถูกนำไปใช้เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลและการรับซื้อไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 พบว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องนำเงินเข้าไปชดเชยราคาน้ำมัน ดีเซล B7 ลิตรละ 1.99 บาท //น้ำมันดีเซล B10 ลิตรละ 2.56 บาท และน้ำมันดีเซล B20 ลิตรละ 4.80 บาท(ในอนาคตจะยกเลิก B20) โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนน้ำมันส่วนนี้เดือนละประมาณ 850 ล้านบาท เนื่องจากปาล์มน้ำมันมีราคาสูงขึ้นจากผลผลิตในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ลดลง โดยราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ลิตรละ 47 บาท สูงกว่าน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นที่ราคาอยู่ที่ลิตรละ 22.64 บาท ถึงลิตรละ 24.36 บาท หรือสูงกว่า 2 เท่า

คาดว่าตลอดปี 2564 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้เงินไปกับการอุดหนุน LPG ราว 19,000 ล้านบาท และอุดหนุนน้ำมันดีเซลผสมไบโอดีเซล ราว 10,000 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ส่วนประมาณ 29,000 ล้านบาท

ทั้งนี้รายได้หลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน คือเก็บเงินจากผู้ใช้ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ลิตรละ 6.58 บาท และเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอร์ 91 และ 95 ลิตรละ 0.62 บาท เนื่องจากรัฐมองว่าน้ำมันเบนซินคือน้ำมันของคนรวย ที่สามารถจ่ายภาษีและจ่ายเงินเข้ากองทุนฯได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

หากดูข้อมูลกำลังการผลิตน้ำมันในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19 พบว่า ประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันเป็นอันดับ 1 ของโลกคือ สหรัฐฯ มีกำลังราว 16.2% ของทั้งโลก /รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย 13% / รัสเซีย 12% / แคนาดา 5.5% /อิหร่าน 5% /อิรัก 4.9% /สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4.2% /จีน 4% /คูเวต 3.2% และ บราซิล 2.8%

ขณะเดียวกันประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก คือ สหรัฐฯ 20.5% รองลงมาคือ จีน 14% /อินเดีย 5.2% /ญี่ปุ่น 3.9% และ ซาอุดิอาระเบีย 3.7% มีความกังวลว่า แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่องจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวและต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ