เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2562 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบกับร่างญัตติถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วย 2 ข้อหา คือ ใช้อำนาจโดยมิชอบ และ ขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาผู้แทนราษฎร โดยข้อหาแรกมีคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 ส่วนข้อหาที่สองมีคะแนนเสียง 229 ต่อ 198 โดยขั้นต่อไป วุฒิสภาสหรัฐฯ จะทำการไต่สวนโดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนมกราคม ดังนั้น จึงเท่ากับว่ากระบวนการถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินมาถึงจุดใกล้บทสรุปแล้ว และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ
กระบวนการถอดถอน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "อิมพีชเมนต์" (Impeachment) เป็นคำเก่าแก่ที่ใช้ในอังกฤษมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 มีความหมายว่า กระบวนการฟ้องร้องเพื่อท้าทายความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ ซึ่งในสหรัฐฯ ใช้เป็นคำเรียกชื่อกระบวนการที่ใช้ถอดถอน ประธานาธิบดี ผู้พิพากษา วุฒิสมาชิก และ รัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง
สำหรับกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น เนื่องจากสหรัฐฯ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจึงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีจึงเริ่มต้นที่สภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเพื่อเริ่มกระบวนการแล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หรืออัยการพิเศษเป็นผู้เสนอหรือยื่นคำร้องต่อสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นคณะกรรมาธิการยุติธรรมของสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาคำร้องว่ามีเหตุต้องถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งหรือไม่ ถ้ามี ก็จะทำการส่งมติการถอดถอนไปให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติ ถ้ามติเสียงข้างมากให้ดำเนินการถอดถอนก็จะส่งมตินั้นไปสู่วุฒิสภา
ทั้งนี้ การลงมติถอดถอนคล้ายกับการดำเนินคดีอาญา คือต้องมีการส่งคำร้องไปยังวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการไต่สวนคดี กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่เหมือนอัยการส่งฟ้องหรือเป็นโจทก์ นำเสนอข้อกล่าวหาการกระทำผิดของประธานาธิบดีต่อวุฒิสภาซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายกับคณะลูกขุน
ประธานาธิบดีที่ถูกกล่าวหาสามารถมีทนาย สามารถขอให้เรียกพยานเพื่อให้ปากคำ และซักถามพยานฝ่ายตรงข้าม หัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลสูงจะเป็นประธานการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี
หลังจากที่มีการไต่สวนแล้ว วุฒิสภาจะทำการประชุมลับ ก่อนจะลงมติอย่างเปิดเผยในแต่ละข้อกล่าวหาในการถอดถอดประธานาธิบดี
กระบวนการถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการร้องเรียนว่าทรัมป์ใช้อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กดดันให้ประธานาธิบดีโวลิดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนตรวจสอบและดำเนินคดีกับนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของนายโจ ไบเดน คู่แข่งทางการเมืองในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563
ก่อนหน้านี้ นักการทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ หลายคนได้ถูกเชิญตัวไปไต่สวนโดยคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และปรากฏว่าได้มีการให้หลักฐานว่า ทรัมป์ได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางการทหารและความมั่นคงแก่ยูเครนแลกกับการที่ให้ทางการยูเครนตรวจสอบและดำเนินคดีกับฮันเตอร์ ไบเดน
ทั้งนี้ ทรัมป์เคยกล่าวไว้ว่า ในบรรดาผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า เขาไม่คิดว่าใครจะแข่งกับเขาได้เลย นอกจาก โจ ไบเดน
โจ ไบเดน เกิดปี พ.ศ. 2485 เป็นนักการเมืองคนสำคัญของพรรคเดโมแครต เขาคือรองประธานาธิบดีในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เขาเป็นคนที่มีประวัติชีวิตน่าสนใจ คือเกิดในตระกูลผู้ดีเก่า ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างผู้ดี เขาจึงมีกิริยาวาจางามจับใจคน แต่บังเอิญบิดาของเขาเป็นผู้ดีตกยากที่สิ้นเนื้อประดาตัวจากการทำธุรกิจ เขาจึงกลายเป็นเด็กที่เติบโตมาอย่างที่ต้องปากกัดตีนถีบหาเงินช่วยครอบครัว เขาจึงเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจคนจน เข้าใจคนทำงาน
นอกจากนี้ เขาเป็นเด็กเรียนเก่ง จบการศึกษาทั้งด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ด้วยผลการเรียนเลอเลิศ แล้วเป็นทนายความที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในวัยหนุ่ม ก่อนที่จะเข้าสู่สนามการเมือง และได้เป็นวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตในปี พ.ศ.2515 และเป็นวุฒิสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น
ด้วยคุณสมบัติต่างๆ ของโจ ไบเดน เขาจึงเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่อาจจะทำให้ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรครีพับรีกัน ดังนั้น จึงมีผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ หลายรายคาดการณ์ว่า เสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภาอาจลงมติให้ร่างญัตติถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีมีอันต้องตกไป และทรัมป์ไม่ถูกถอดถอน เพราะพรรครีพับรีกันคงไม่อยากเสี่ยงเปลี่ยนตัวผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงเวลาที่ใกล้การเลือกตั้งครั้งใหม่เช่นนี้
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ อีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า วุฒิสมาชิกพรรครีพับรีกันจำนวนมากก็รู้สึกเหลือทนกับทรัมป์ เพราะทรัมป์มีข่าวเสื่อมเสียบ่อยๆ และอาจจะโหวตให้ทรัมป์ถูกถอดถอน เพื่อให้ทรัมป์หมดคุณสมบัติลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แล้วให้พรรครีพับรีกันสนับสนุนคนอื่นที่ดูดีกว่าทรัมป์ล่อเป้าน้อยกว่าทรัมป์ลงชิงชัยแทน
สุดท้าย กระบวนการถอดถอนทรัมป์จะจบลงอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป