นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แถลงชี้แจงสาระสำคัญ ในการพิจารณารายมาตราวาระที่ 2 ว่า ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงไปพิจารณาความจำเป็นในการใช้งบประมาณทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และส่งข้อมูลมาให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการมีมติปรับลดงบประมาณจำนวน 16,231 ล้านบาท โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ตลอดจนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยพิจารณาจากแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2562 ทั้งรายการที่มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ไม่ชัดเจน การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดการประหยัด เช่น การประชุมสัมมนา การจ้างเหมาบริการ การประชาสัมพันธ์ การเดินทางไปราชการต่างประเทศ และโครงการที่ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และไม่สามารถใช้จ่ายได้ทัน ในปี 2563 หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่รายการจัดซื้อจัดจ้าง ต่ำกว่างบประมาณที่เสนอไว้ และรายการงบประมาณต่างๆ ที่สามารถปรับลดได้เช่น ค่าก่อสร้างตามค่าวัสดุก่อสร้าง ที่มีแนวโน้มลดลง โครงการรายการที่สามารถใช้งบจากแหล่งอื่น ทั้งเงินนอกงบประมาณ หรืองบประมาณที่สามารถจัดเก็บเองได้ รวมถึงเงินทุนหมุนเวียน
โดยเพิ่มงบประมาณให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานประกันสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้หน่วยงานรับงบประมาณเหล่านี้ มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป และมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจำนวน 27 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ย้ำว่าการปรับลดรายการเพิ่มงบประมาณได้ให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงานความซ้ำซ้อนของเป้าหมายการดำเนินงานผลการบริหารงานที่ผ่านมารายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญเพื่อให้สามารถดำเนินการตามกรอบงบประมาณรายจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท
สำหรับการแปรญัตติ มีการสงวนคำแปรญัตติตั้งแต่มาตรา 1 โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย แปรญัตติว่าควรบัญญัติถ้อยคำว่า (ฉบับออกไม่ทันปีงบประมาณ) ต่อท้ายชื่อร่างกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไม่ทันปีงบประมาณ 2563 โดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการชี้แจงว่า โดยปกติชื่อว่า พ.ร.บ.จะไม่มีการวงเล็บหรือขยายความต่อท้ายว่าออกทันหรือไม่ทันตามปีงบประมาณ ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ได้บัญญัติไว้ในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายแล้ว โดยงบประมาณสำรองจ่ายที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ให้ถือเป็นงบประมาณของปี 2563 แล้ว จึงทำให้นายเรืองไกรขอให้ที่ประชุมลงมติทันที ว่าเห็นด้วยตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเห็นด้วยตามที่มีการสงวนคำแปรญัตติไว้ จนมีมติ 223 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 175 ไม่ออกเสียง 2 เสียงเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งมี ส.ส.รายงานว่าเครื่องลงคะแนนหลายเครื่องไม่สามารถใช้ได้ โดยประธานสภาให้เจ้าหน้าที่บันทึกและจะรับเรื่องนี้ไปแก้ไข