ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยของออสเตรเลีย Lowy Institute จัดทำดัชนีอำนาจของประเทศต่างๆ 26 ประเทศในเอเชีย Lowy Institute Asia Power Index 2021 หรือดัชนีอำนาจของประเทศในเอเชียประจำปี 2021 โดยจัดทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018

Lowy Institute ถือเป็นสถาบันวิจัย Think Tank ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 โดยมหาเศรษฐีชาวออสเตรเลียที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศอิสราเอลชื่อ Sir Frank Lowy ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท Westfield Corporation และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าบริษัทนี้เป็นเจ้าของศูนย์การค้าที่สำคัญๆ ในประเทศออสเตรเลีย

Lowy Institute ทำงานวิจัยด้านการต่างประเทศในมิติต่างๆ เช่น การเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ ในเชิงวิชาการเพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายให้กับประเทศออสเตรเลีย

ดัชนีอำนาจ.jpg

ดัชนีอำนาจของ Lowy Institute นั้น เป็นดัชนีที่ครอบคลุมปัจจัยที่เป็นพื้นฐานของอำนาจโดยรวม (Comprehensive power) 8 ประการคือ 

ปัจจัยประเภททรัพยากร (Resources) ได้แก่

1. ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (17.5%)

2. ศักยภาพทางการทหาร (17.5%)

3. ความแข็งแกร่ง (resilience) หมายถึง ความสามารถในการยับยั้งภัยคุกคามที่แท้จริงหรือที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของรัฐ (10.0%)

4. ทรัพยากรในอนาคต (10.0%)

ปัจจัยในเชิงอิทธิพล (influence) ได้แก่

1. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (15%)

2. เครือข่ายทางการทหาร (10.0%)

3. อิทธิพลทางการทูต (10.0%)

4. อิทธิพลทางวัฒนธรรม (10.0%)

สหรัฐฯยังยืนหนึ่ง ดัชนีอำนาจสูงสุดในเอเชีย

โดยจะนำปัจจัยทั้งหมดคำนวณคะแนนรวมของอำนาจของประเทศนั้นๆ ทำให้สามารถนำมาจัดอันดับของประเทศทั้ง 26 ประเทศ โดยในปี 2021 สามารถจัดอันดับอำนาจในเอเชียได้ดังนี้

1. กลุ่มประเทศมหาอำนาจ (super power) ได้แก่ สหรัฐ 82.2 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.6 คะแนน โดยสหรัฐมีปัจจัยอำนาจที่อยู่ในอันดับ 1 ถึง 6 ด้านจาก 8 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพทางการทหาร,เครือข่ายทางการทหาร อิทธิพลทางการทูต /อิทธิพลทางวัฒนธรรม /ความแข็งแกร่ง และทรัพยากรในอนาคต ที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนอันดับรองลงมาคือ จีน 74.6 คะแนน ลดลงจากปีที่แล้ว 1.5 คะแนน จาก อิทธิพลทางการทูต และ ทรัพยากรในอนาคต อย่างไรก็ตาม จีน นั้น เป็นอันดับ 1 ในด้าน ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เหนือกว่าสหรัฐที่อยู่อันดับ 2 ใน 2 ด้านนี้

2. กลุ่มประเทศที่มีอำนาจปานกลาง (middle power) ได้แก่ ญี่ปุ่น 38.7 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 1.3 คะแนน โดยญี่ปุ่นมีปัจจัยด้านความแข็งแกร่งอยู่ในอันดับ 9 ศักยภาพทางการทหาร อยู่ที่อันดับ 7 และ ทรัพยากรในอนาคต อยู่ในอันดับ 6 สาเหตุหลักมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ญี่ปุ่นมีคนหนุ่มสาวไม่มากพอที่ขับเคลื่อนรักษาศักยภาพของประเทศต่อไปในอนาคต ดัชนีอำนาจของประเทศญี่ปุ่นจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศที่มีดัชนีอำนาจรองจากญี่ปุ่นคือ อินเดีย 37.7 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 2 คะแนน ด้านที่แข็งแกร่งที่สุดของอินเดียคือ ทรัพยากรในอนาคต ที่อยู่ในอันดับ 3 เพราะอินเดียจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อีกด้านที่แข็งแกร่งคือ อิทธิพลทางวัฒนธรรม อยู่ในอันดับ 4 /ขณะที่ด้าน ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อินเดียก็มีความโดดเด่นเช่นกัน

ถัดมาคือประเทศรัสเซีย ได้ 33 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 0.5 คะแนน รัสเซียมีความโดดเด่นด้านความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของรัฐ โดยอยู่ในอันดับ 2 รองจากสหรัฐ แต่ด้านที่เปราะบางที่สุดของรัสเซียคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ที่อยู่ในอันดับ 16 จาก 26 ประเทศ /ส่วนด้านอิทธิพลทางวัฒนธรรม และ เครือข่ายทางการทหาร อยู่ในอันดับ 10

อันดับต่อมาคือประเทศ ออสเตรเลีย ได้คะแนนรวม 30.8 ด้านที่โดดเด่นที่สุดคือ เครือข่ายทางการทหาร อยู่ในอันดับ 2 โดยออสเตรเลียมีความร่วมมือกับ สหรัฐและอังกฤษ ภายใต้ชื่อกลุ่ม AUKUS ขณะที่ด้านความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคามและ อิทธิพลทางวัฒนธรรม อยู่ในอันดับ 5 /ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ ทรัพยากรในอนาคต อยู่ในอันดับ 9

อันดับ 7 เกาหลีใต้ ได้คะแนนรวม 30 คะแนน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1.6 คะแนน โดยด้าน เครือข่ายทางการทหาร อยู่ในอันดับ 4 /ศักยภาพทางการทหาร, ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อยู่ในอันดับ 5 /อิทธิพลทางการทูต อันดับ 6 /ความแข็งแกร่ง, ทรัพยากรในอนาคต และ อิทธิพลทางวัฒนธรรม อยู่ในอันดับ 7 

“สิงคโปร์” ดัชนีอำนาจสูงสุดในอาเซียน

อันดับ 8 สิงคโปร์ 26.2 คะแนน แม้คะแนนจะลดลงจากปีก่อน 1.2 คะแนน แต่สิงคโปร์ก็ยังมีคะแนนนำทิ้งห่างประเทศอื่นๆในอาเซียน ตัวชี้วัดด้านอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดของสิงคโปร์คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 รองจาก จีน,สหรัฐ,และญี่ปุ่น ถัดมาคือด้านเครือข่ายทางการทหาร ที่อยู่ในอันดับ 5 ศักยภาพทางเศรษฐกิจ อันดับ 7 ส่วนด้านที่อ่อนที่สุดของสิงคโปร์คือความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคาม อยู่ในอันดับ 12 /ทรัพยากรในอนาคต อยู่ในอันดับ 11 และ ศักยภาพทางการทหาร ที่อยู่ในอันดับ 10

อันดับ 9 อินโดนีเซีย 19.4 คะแนน ลดลง 0.5 คะแนน แค่อันดับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับ 11 ในปีที่แล้ว ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 9 ในปีนี้ โดยดัชนีอำนาจด้านที่แข็งแกร่งที่สุดของอินโดนีเซียคือ ทรัพยากรในอนาคต อยู่ในอันดับ 5 เนื่องจากอินโดนีเซีย มีประชากรราว 275 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน/อินเดียและสหรัฐ โดยอายุเฉลี่ยของประชากรส่วนใหญ่คือ 30.3 ปี ซึ่งอยู่ในวัยแรงงาน รองลงมาคือด้านอิทธิพลทางการทูต อยู่ในอันดับ 8 ความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคาม อันดับ 10 สำหรับด้านที่อ่อนที่สุดของอินโดนีเซียคือ เครือข่ายทางการทหาร อยู่ในอันดับ 14 ศักยภาพทางการทหาร อันดับ 13  อิทธิพลทางวัฒนธรรม อันดับ 12

อันดับ 10 ประเทศไทย 19.2 คะแนน ลดลง 1.7 คะแนน และอันดับลดลงจากปี 2021 ที่เคยอยู่ในอันดับ 9 มาอยู่อันดับ 10 ในปีนี้ โดยดัชนีอำนาจด้านที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศไทยคือ อิทธิพลทางวัฒนธรรม อยู่ในอันดับ 6 /รองลงมาคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อันดับ 7 

ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ ทรัพยากรในอนาคต อยู่ในอันดับ 15 เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประชากรในวัยแรงงานน้อยและอัตราการเกิดต่ำ ทำให้ในอนาคตอาจขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่จะพัฒนาประเทศต่อไป /

ขณะที่ดัชนีอำนาจด้านศักยภาพทางการทหาร ไทยอยู่ในอันดับ 14 /ด้านความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคาม อันดับ 13 /ด้านอิทธิพลทางการทูต อันดับ 12

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีอำนาจของไทย หล่นจากอันดับที่ 9 มาอยู่อันดับที่ 10 เนื่องจากคะแนนดัชนีอำนาจด้านอิทธิพลทางการทูต ลดลงถึง 5.4 คะแนน โดยคะแนนในส่วนนี้จะวัดจากสถานะด้านการต่างประเทศ มีตัวชี้วัดย่อยอีก 3 อย่าง คือ เครือข่ายทางการทูต(Diplomatic Network) / กลไกพหุภาคี(Multilateral Power) และ ความสามารถด้านการดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศ(Foreign Policy) ซึ่งในส่วนของ Foreign Policy ที่วัดความสามารถของผู้นำรัฐบาลและหน่วยงานด้านการต่างประเทศ ในการเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติผ่านการทูต นั้น ไทยหล่นไปอยู่ในอันดับที่ 14

ดัชนีอำนาจอีกด้านที่คะแนนลดลงมากคือ เครือข่ายทางการทหาร ลดลง 4.8 คะแนน โดยตัวชี้วัดย่อยในส่วนของ การทูตด้านการป้องกันประเทศในระดับภูมิภาค (Regional Defence Diplomacy) ไทยอยู่ในอันดับ 14 ย่อยยิ่งกว่านั้นคือ ข้อตกลงด้านการให้คำปรึกษาเพื่อการป้องกันภัย (Defence Consultation Pacts) ไทยอยู่ในอันดับ 26 หรืออันดับท้ายสุด

อันดับ 11 มาเลเซีย 18.3 คะแนน ลดลงจากปีก่อน 2.4 คะแนน และลดลง 1 อันดับ /ด้านที่แข็งแกร่งของมาเลเซียคือ อิทธิพลทางวัฒนธรรมและความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคาม อันดับ 8 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อันดับ 9 ส่วนดัชนีที่มีคะแนนน้อยคือ ศักยภาพทางการทหาร อันดับ 16 /ทรัพยากรในอนาคต อันดับ 13

อันดับ 12 เวียดนาม 18.3 คะแนน เท่ากับมาเลเซีย และมีคะแนนลดลงจากปีก่อน 1 คะแนน โดยด้านที่แข็งแกร่งที่สุดของเวียดนามคือ อิทธิพลทางการทูต ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและ ทรัพยากรในอนาคต ทั้ง 3 ส่วนนี้อยู่ในอันดับ 10 /อิทธิพลทางวัฒนธรรม อันดับ 11 /ศักยภาพทางการทหาร อันดับ 12 /เครือข่ายทางการทหารและศักยภาพทางเศรษฐกิจ อันดับ 13 /ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยสุดคือ ความแข็งแกร่งในการยับยั้งภัยคุกคาม อันดับ 19

อันดับ 13 นิวซีแลนด์ 17.8 คะแนน

อันดับ 14 ไต้หวัน 16.2 คะแนน

อันดับ 15 ปากีสถาน 14.7 คะแนน

อันดับ 16 ฟิลิปปินส์ 13.1 คะแนน

อันดับ 17 เกาหลีเหนือ 11.5 คะแนน ซึ่งด้านที่แข็งแกร่งที่สุดของเกาหลีเหนือคือ ศักยภาพทางการทหาร อยู่ในอันดับ 6

3.กลุ่มประเทศที่มีอำนาจน้อย (minor power)ของเอเชีย ได้แก่ อันดับ 18 บรูไน 9.6 คะแนน /อันดับ 19 บังกลาเทศ 9.4 คะแนน /อันดับ 20 ศรีลังกา 8.6 คะแนน /อันดับ 21 เมียนมาร์ 7.4 คะแนน /อันดับ 22 กัมพูชา 7.1 คะแนน /อันดับ 23 ลาว 6.0 คะแนน /อันดับ 24 มองโกเลีย 5.7 คะแนน /อันดับ 25 เนปาล 4.5 คะแนน และอันดับ 26 ปาปัวนิวกินี 3.7 คะแนน//

ไทย-มาเลเซีย” ถอดถอย “อินโดนีเซีย-เวียดนาม” โดดเด่นในอาเซียน

หากพิจารณาเฉพาะในกลุ่มอาเซียน สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มเช่นกัน คือกลุ่มที่มีอำนาจมาก สามารถขึ้นไปอยู่ในกลุ่มนำในระดับโลกได้ก็คือ สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับ 8 จาก 26 ประเทศของ Lowy Institute Asia Power Index 2021 หรือดัชนีอำนาจของประเทศในเอเชียประจำปี 2021 ซึ่งในการจัดทำดัชนีระดับโลกหลายๆครั้ง ก็จะเห็นว่า สิงคโปร์ อยู่ในอันดับต้นๆในดัชนีระดับโลกเสมอ

ส่วนกลุ่มกลางๆก็ได้แก่ อินโดนีเซีย /ไทย/มาเลเซีย /เวียดนามและฟิลิปปินส์

กลุ่มล่างสุด ได้แก่ บรูไน /เมียนมาร์ /ลาว /กัมพูชา

กลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งย้อนดูการจัดทำ Lowy Institute Asia Power Index ตั้งแต่ปี 2018 และ 2019 จะพบว่า มาเลเซีย เคยอยู่ในอันดับที่ 9 /ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 10 / อันดับที่ 11 คือ อินโดนีเซีย /เวียดนามอันดับที่ 13 /และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 16-17 สลับกับเกาหลีเหนือ

พอมาปี 2020 ไทยแซงมาเลเซียขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 9 /มาเลเซีย หล่นไปอยู่อันดับ 10 /อินโดนีเซีย ยังอยู่ในอันดับที่ 11 /แต่เวียดนามขึ้นมาอยู่อันดับที่ 12 /ฟิลิปปินส์อันดับที่ 16

ในปี 2021 อินโดนีเซีย แซงทั้งไทยและมาเลเซีย ขึ้นมาอยู่อันดับ 9 /ไทย หล่นมาอยู่อันดับ 10 /มาเลเซียอันดับ 11 /เวียดนาม อันดับ 12 /ฟิลิปปินส์ อันดับ 16 เหมือนเดิม

ช่วงปี 2020-2021 เป็นช่วงที่ โควิด-19 ระบาดรุนแรง มาเลเซียได้รับผลกระทบหนักมาก และมีผลทำให้ดัชนีอำนาจลดลงมากที่สุด ปี 2020 ลดลงจากปี 2019 ลดลง 2.1 คะแนน /ปี 2021 ลดลงจากปี 2020 ถึง 2.4 คะแนน รวม 2 ปีลดลง 4.5 คะแนน ทำให้มาเลเซียหล่นจากอันดับที่ 9 ไปอยู่อันดับที่ 11

ส่วนอินโดนีเซีย 2 ปีคะแนนลดลง 1.2 คะแนน /แต่ไทยลดลง 1.5 คะแนน /เวียดนาม +0.3 คะแนน /ฟิลิปปินส์ ลดลง 0.6 คะแนน

ถ้าดูจากดัชนีนี้ ไทย ได้รับผลกระทบรองจาก มาเลเซีย /ขณะที่เวียดนาม ได้ระบผลกระทบแต่ดัชนีอำนาจก็ยังเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี 2021 เวียดนามมีคะแนนรวมเท่ากับ มาเลเซีย

ดัชนีอำนาจส่วนที่ได้คะแนนน้อยที่สุดของมาเลเซีย คือ ศักยภาพทางการทหาร อยู่ในอันดับ 16 จาก 26 ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Military Strength of Nations, 2020 ที่มาเลเซียอยู่ในอันดับ 44 จาก 138 ประเทศทั่วโลก /ขณะที่ อินโดนีเซีย อยู่ในอันดับ 16 /เวียดนาม อันดับ 22 /ไทย อันดับ 23 และฟิลิปปินส์ อันดับ 48 ทำให้ มาเลเซีย ได้คะแนนส่วนนี้น้อย

ดัชนีอำนาจที่น้อยรองลงมาคือด้านทรัพยากรในอนาคต /เป็นที่ทราบกันดีว่า มาเลเซีย จะเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเมื่อเร็วๆนี้ สำนักสถิติมาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียอาจกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากอัตราการเกิดลดต่ำสุดในช่วง 4 ทศวรรษ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรของมาเลเซียภายในปี 2573 ประชากรสูงอายุที่มีวัย 60 ปี และตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ 15.3%

ส่วนอินโดนีเซีย ที่อันดับขึ้นมาแซงไทย ส่วนหนึ่งมาจากด้านทรัพยากรในอนาคต ที่อินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน จึงมีคะแนนส่วนนี้สูงในอันดับ 5 /นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านการต่างประเทศที่แข็งแกร่ง อยู่ในอันดับ 8 และดัชนีอำนาจด้านอื่นๆค่อนข้างดี จึงขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 9

ดัชนีอำนาจไทยถดถอย นโยบายต่างประเทศแย่-ขาดทรัพยากรในอนาคต

อีกประเทศที่น่าสนใจคือ เวียดนาม คะแนนดัชนีอำนาจปี 2021 เวียดนามได้คะแนนเท่ากับมาเลเซีย เป็นไปได้ว่าในปีหน้า อาจจะแซงมาเลเซีย /ขณะเดียวกันช่องว่างคะแนนระหว่างไทยกับเวียดนามแคบลงเรื่อยๆ /ในปี 2018 ไทยมีคะแนนมากกว่าเวียดนาม 2.9 คะแนน /ปี 2019 เหลือ 2.7 คะแนน /ปี 2020 เหลือ 1.6 คะแนน และปี 2021 เหลือ 0.9 คะแนน

จุดแข็งของไทยคือ 1.อิทธิพลทางวัฒนธรรมผ่านการท่องเที่ยว โดยไทยได้คะแนน 47.7 สำหรับดัชนี People Exchanges เป็นที่ 2 ของภูมิภาค แต่คะแนนลดลงจากปี 2020 มากแม้จะได้ที่ 2 เหมือนกัน โดยในปี 2020 คะแนนอยู่ที่ 65.3

2.จุดแข็งด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ได้คะแนน 18.8 เป็นที่ 7 ของภูมิภาค

จุดอ่อนประเทศไทย

1. ความมั่นคงในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitical security) มีคะแนน 22.9 เป็นที่ 18 ของภูมิภาค

2. ทรัพยากรด้านประชากรได้คะแนนเพียง 2 คะแนน เป็นที่ 15 ของภูมิภาค ตรงนี้วัดจากการคาดการณ์จำนวนประชากรในวัยทำงานและป้องกันประเทศ ตั้งแต่ปี 2030-2050 ที่จะค่อยๆลดลง และจะมีผลกระทบต่อ GDP ทั้งนี้คะแนนรวมด้าน Future Resources ไทยได้คะแนนรวม 5.0 คะแนน เป็นอันดับที่ 15 ในภูมิภาค

ขณะที่จุดแข็งของเวียดนาม มี 3 ด้าน คือ

1.อิทธิพลทางการทูต ได้คะแนนรวม 48.6 อยู่ในอันดับ 10 ด้านที่โดดเด่นคือ เครือข่ายทางการทูต ได้ 53 คะแนน และ นโยบายด้านการต่างประเทศ ได้ 47.9 คะแนน

2.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ได้คะแนนรวม 14.8 คะแนน อยู่ในอันดับ 10 ด้านย่อยที่โดดเด่นคือ Economic Diplomacy หรือการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ประเทศ ได้ 28.5 คะแนน อยู่ในอันดับ 8 /ส่วนที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีและพหุภาคี อยู่ในอันดับ 6

3.ทรัพยากรในอนาคต ได้ 7.2 คะแนน อยู่ในอันดับ 10 ส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือ คาดการณ์การเติบโตของ GDP จนถึงปี 2030 อยู่ในอันดับ 8 /แผนการขยายกำลังด้านการทหารถึงปี 2030 อยู่ในอันดับ 9 / ประชากรวัยทำงานจนถึงปี 2050 อยู่ในอันดับ 9

จุดด้อยของเวียดนามคือ ความแข็งแกร่ง (resilience) หมายถึง ความสามารถในการยับยั้งภัยคุกคามที่แท้จริงหรือที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของรัฐ โดยเวียดนามได้ 25.8 คะแนน อยู่ในอันดับ 19 ปัจจัยสำคัญมาจาก ความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ อยู่ในอันดับ 25 และกรณีที่เวียดนามยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ อันดับ 26