ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตใหม่ เปิดเวทีชำแหละงบประมาณรัฐ พบการใช้เงินไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่งบกลางและเงินนอกงบประมาณมหาศาล ไม่ถูกตรวจสอบ

พรรคอนาคตใหม่ จัดเวที อนาคตงบประมาณไทย อนาคตใหม่ประชาชน ที่ห้องวิวัฒนไชย ชั้น 8 สำนักงานใหญ่พรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ โดยนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึง กระบวนการทำงานของคณะกรรมาธิการหรือ กมธ.งบประมาณแผ่นดินว่า กมธ.ชุดใหญ่พยายามเปลี่ยนวิธีจัดจารณางบประมาณจากจัดสรรตามรายการ เป็นมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์หรือที่ผลงาน

ส่วนเรื่องตามรายการของแต่ละหน่วยงานให้เป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณ และวิธีพูดใน กมธ.เหมือน "การสนทนาธรรม" ที่มีการซักถามพูดคุยแผนงานหรือโครงการต่างๆ ว่าสอดคล้องกับงบประมาณหรือไม่ แต่ไม่มีการลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ และมองว่า กมธ.ชุดใหญ่ทั้ง 68 คนไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เวลาพิจารณางบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ส่วน อนุ กมธ.ทั้ง 6 คณะมีหน้าที่ที่แท้จริงคือการตัดงบประมาณที่ทำได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น

ส่วนการทำงานใน กมธ.ที่มีคำถามชวนให้คิดต่อว่า ส.ส.ไม่สามารถพิจารณาเกี่ยวกับอัตราภาษี ไม่สามารถปรับลดได้เพราะเรื่องนี้อยู่ในกฎกระทรวง และปัจจุบัน ส.ส.ไม่สามารถแปรญัตติให้เพิ่มงบประมาณได้ ซึ่งควรนำมาพิจารณาในอนาคตว่าจะเปลี่ยนเเปลงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่เหล่านี้ด้วยหรือไม่

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุถึง 'งบประมาณที่ข้ามหัวประชาชน' คือ เงินนอกงบประมาณและงบกลาง ว่า ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง พบเงินนอกงบประมาณในกองทุนหมุนเวียนและหน่วยงานต่างๆ ไตรมาส 3 ปี 2562 ที่เอามาฝากไว้ที่กระทรวงการคลังมีอยู่ 4.5 ล้านล้านบาท แต่มีส่วนของหน่วยงานที่ทำข้อตกลง ตามกฎหมายโดยไม่ต้องเอามาฝากที่คลังอีกจำนวนมาก คาดว่ามีงบนอกงบประมาณทั้งหมดถึง 8.5 ล้านล้านบาท ซึ่งการเอาเงินนอกไปสร้างรายได้นั้น สังคมตั้งคำถาม ว่าโปร่งใสหรือไม่ และควรผันกลับมาใช้พัฒนาท้องถิ่นและอื่นๆ ของรัฐหรือไม่ด้วย ที่สำคัญหลายหน่วยงานไม่มีศักยภาพในการบริหารเงินนอกงบประมาณ

ขณะที่งบกลางนั้นเป็นเหมือนขีปนาวุธ ที่เอาไว้ต่อสู้กับรัฐราชการหรือสามารถใช้ได้ตามอำเภอใจ ขนาดที่มีงบฉุกเฉินอยู่ด้วย แต่ก็เกิดความสงสัยว่า เมื่อมีภาวะฉุกเฉิน ไม่ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ น้ำท่วมภัยแล้งหรืออื่นๆ ทำไมรัฐต้องมาขอรับบริจาคแทนที่จะใช้เงินส่วนนี้ที่งบกลางในปัจจุบันมีกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท หรือ 3 เปอร์เซ็นต์ ของงบประจำปี แต่ที่ผ่านมา แทบไม่ได้ใช้งบกลาง โดยปี 2560 เบิกจ่ายงบกลางไปเพียง 12.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่รัฐบาล และหลายๆ หน่วยงานกลับหวงที่จะมีงบกลางเอาไว้ โดยเชื่อว่า ต้องการของไว้เพื่อเอาไปเติมงบที่ถูกตัดออกไป และใช้ในโครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ จะซื้อหรือดำเนินการได้ตามอำเภอใจโดยไม่จำกัดวงเงิน 

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐว่า เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กมธ. งบประมาณและอนุ กมธ. ต้องตัดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ลง รวมถึงพิจารณาส่วนที่เป็นงบผูกพันข้ามปี อย่างซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารด้วย แม้ว่าจะปรับลดได้เพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยยึดหลักการว่าหากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้งบประมาณจำนวนมาก ย่อมกระทบกับหน่วยงานอื่น หรือไปเบียดงบประมาณหน่วยงานอื่นให้ทำได้น้อยลง ขณะที่ในส่วนของกระทรวงกลาโหมได้งบประมาณจำนวนมากรวมทั้งงบผูกพันด้วยซึ่งไม่ได้ใช้จ่ายจริงทั้งหมด ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเพราะเป็นเงินที่กู้ยืมมา โดยในปี 2561 เบิกจ่ายจริงเพียง 58 เปอร์เซ็นต์ ปี 2562 ใช้เพียง 47.91 เปอร์เซ็นต์ รับมีดอกเบี้ย 1.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดังนั้น กองทัพทำให้รัฐเสียค่าโง่จากดอกเบี้ยเงินกู้นี้ราว 306 ล้านบาท 

นายพิจารณ์ กล่าวถึง ซื้ออาวุธว่าเหมือนกับซื้อถังดับเพลิงไว้ในบ้านเพื่อเตรียมการไว้และทั้งสองอย่างหากซื้อมาแล้วแต่ไม่ได้ใช้จะเสื่อมสภาพ อาวุธจะล้าสมัย หรือหาอะไหล่เพื่อซ่อมบำรุงไม่ได้ ดังนั้น การจัดซื้อเรื่องเหล่านี้ ควรใช้หลักแบบในต่างประเทศ คือนโยบาย 'การจัดซื้อแบบชดเชย' โดยผู้ขายจะต้องนำเสนอต่อทั้งกิจกรรมอะไรบางอย่างที่จะต้องมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมของประเทศผู้ซื้อด้วย

โดยยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซียที่ซื้อ เรือดำน้ำ 3 ลำ จากประเทศเกาหลีใต้ด้วยเม็ดเงินราว 3.6 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับของไทย แต่เป็นการจัดซื้อแบบชดเชยโดยอินโดนีเซีย ส่งวิศวกรกว่า 200 ชีวิตไปเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกาหลีใต้ และมีเงื่อนไขว่าการจัดซื้อลำที่ 3 ต้องมาประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดที่ประเทศอินโดนีเซีย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงว่า ในอนาคตอินโดนีเซียจะสามารถผลิตเรือดำน้ำได้เอง ขณะที่เกาหลีใต้เองก็ใช้นโยบายนี้โดยการซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนีตั้งแต่ต้น จึงผลิตเพื่อขายให้ประเทศอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ได้ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม