เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2562 พรรคอนาคตใหม่ เผยแพร่ข้อมูลเอกสารคำชี้แจง รวมถึงบัญชีพยานของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่นายธนาธรถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น ส.ส. กรณีการถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นผลทำให้นายธนาธรต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2562 สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่รายงาน "'ธนาธร-เมีย' โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน" ระบุว่า นายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ได้โอนหุ้นจำนวน 9 แสนหุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท ให้กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ในวันที่ 21 มี.ค. 2562 (3 วันก่อนการเลือกตั้ง)
23 มี.ค. 2562 นายธนาธรนำตราสารโอนหุ้น ลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 เผยแพร่บนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของเขา พร้อมทั้งกล่าวว่า "ที่ผมถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นวี-ลัค อาจขาดคุณสมบัติการลงเลือกตั้ง ผมขอชี้แจงว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน ผมและภรรยาได้โอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา 1 เดือนก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นทุกท่านจึงไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องนี้..." อย่างไรก็ตาม นายธนาธร พร้อมผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 10 อันดับแรก ยื่นเอกสารสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) และบัญชีนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ในกรณีที่มีการซื้อขาย หรือ โอนหุ้นของบริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทนั้นๆ บริษัทจะบันทึกในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้น ซึ่งจะแจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อไรก็ได้ หรือจนกว่าจะยื่นรายงานงบการเงินบริษัทหลังวันปิดสมุดบัญชีก็ได้ ดังนั้น กรณีที่มีหัวหน้าพรรคการเมืองรายหนึ่งโอนหุ้นที่ตนถืออยู่ในบริษัทที่ทำกิจการด้านสื่อ และบริการโฆษณาออกไปและคาดว่ามีการแจ้งกรมไม่กี่วันก่อนเลือกตั้งนั้น อาจไม่มีผลกระทบใดๆ หากมีหลักฐานยืนยันได้ว่า มีการโอนหุ้นหรือเปลี่ยนแปลงหุ้นในสมุดบัญชีหุ้นก่อนสมัครเป็น ส.ส.
25 มี.ค. 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า มีการแจ้งโอนหุ้นของนายธนาธร เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ไม่ตรงกับตราสารหุ้นที่เปิดเผย และพบว่า การประชุมผู้ถือหุ้น 19 มี.ค. 2562 มีกรรมการ และผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม จำนวน 10 คน ทั้งที่น่าจะเหลือ 8 คน เนื่องจากนายธนาธรและภรรยาขายหุ้นออกไปแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2562 นายธนาธรแถลงข่าว ยืนยันว่า ตนได้ขายหุ้นให้นางสมพร ผู้เป็นมารดา ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ก่อนที่บริษัทปิดกิจการ พร้อมนำสื่อมวลชนไปยังบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ชั้น 7 บนอาคารไทยซัมมิท เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทแห่งนี้ปิดกิจการจริงๆ
ส่วนในประเด็นเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้น ต่อมา วันที่ 2 เม.ย. 2562 นายธนาธรออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ชี้แจงกรณีที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น 10 คน ว่า นางสมพรได้โอนหุ้นให้หลาน 2 คน ตั้งแต่ 14 ม.ค. 2562 ทำให้การประชุม 19 มี.ค. มีผู้ถือหุ้นคงเหลือจำนวน 10 คน แม้ว่าตนจะได้โอนหุ้นไปแล้ว พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น และไม่ได้มีพฤติการณ์ “ส่อพิรุธ” ดังที่สื่อมวลชนบางฉบับพยายามชี้นำ
4 เม.ย. 2562 กกต. มีมติตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจสอบสำนวนเพื่อดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน กรณีการกล่าวหานายธนาธรว่ามีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสื่อ โดยมีนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล เป็นประธาน
5 เม.ย. 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. ขอให้สอบสวนและวินิจฉัยเพื่อส่งให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของนายธนาธร โดยอ้างว่า การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย อาจเป็นการอำพรางนิติกรรม
22 เม.ย. 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง ขณะที่ฝ่ายกฎหมายของพรรค ยื่นเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กกต.
แต่ท้ายที่สุด ในวันที่ 23 เม.ย. 2562 กกต. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 1 กรณีถือครองหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ถูกร้องว่าเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ และ ผิด พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. โดยคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว มีหลักฐานเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001 ถึง 2025000
การไต่สวนของคณะกรรมการภายใต้ กกต. เป็นไปตามที่มีผู้ร้องว่าการถือหุ้นทำให้นายธนาธรเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 42 (3) กำหนดห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ"
24 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมติ 9 ต่อ 0 รับพิจารณาคุณสมบัติธนาธรถือหุ้นสื่อ พร้อมสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากการที่ กกต. ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายธนาธร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 18 ต.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานบุคคล 10 ปาก ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้เผยแพร่ข้อมูลเอกสารคำชี้แจงของนายธนาธร รวมถึงบัญชีพยานของนายธนาธร
ในเอกสาร คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาวีลัค (ธนาธร) 76 หน้า ระบุข้อเท็จจริงของการโอนหุ้นว่า "เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2558 ตน (นายธนาธร) ได้เข้าถือหุ้นในบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้น ตั้งแต่ 1350001 ถึง 2025000 และถือครองหุ้นเรื่อยมาจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ตนได้ดำเนินการโอนหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดา) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท โดยทำเป็นหนังสือตราสารโอนหุ้น ระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้โอน กับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้รับโอน ฉบับลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองสองคน พร้อมนี้ ผู้โอนและผู้รับโอน กับพยานทั้งสองคน ได้ลงลายมือชื่อในตราสารโอนหุ้นดังกล่าว ต่อหน้าทนายความผู้ทำคำรับรอง การโอนหุ้นทั้งหมดของตนให้แก่นางสมพร จึงมีผลสมบูรณ์ตามนัยมาตรา 1129 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และในวันเดียวกันนี้ นางสมพรได้ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่นายธนาธรด้วยเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เลขที่เช็ค 11309959 ฉบับลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 สั่งจ่ายนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นเงินจำนวน 6,750,000 บาท การโอนหุ้นดังกล่าว ได้มีการจดแจ้งการโอนและรับโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 แล้ว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น การจดแจ้งการโอนหุ้นลงใน ทะเบียนผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 1129 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งบริษัทจัดทำและเก็บรักษาไว้ที่บริษัท
ทั้งนี้ นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเดียวกันนี้ ก็ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นางสมพร เช่นกัน"
นอกจากนี้ยังระบุว่า "ตามที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ข้าพเจ้าอยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจในจังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าจะลงนามในตราสารโอนหุ้น ได้อย่างไรนั้น ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ข้าพเจ้าอยู่ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงเช้าจริง อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. ข้าพเจ้าได้เดินทางออกจากจังหวัดบุรีรัมย์มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครโดยรถยนต์ส่วนบุคคล และข้าพเจ้าเข้าสู่รุงเทพมหานครในวันดังกล่าวผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน)"
ในเอกสารยังระบุถึงการปิดกิจการของ วี-ลัค มีเดีย ว่า "เดิมเมื่อปี 2561 ผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้เคยหารือกันเกี่ยวกับการดำเนินการเตรียมเลิกกิจการ โดยมีสาเหตุจากสภาพการณ์ของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป และได้ดำเนินการทะยอยปิดส่วนงานต่างๆ พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานแทบทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับแผนการเตรียมเลิกกิจการตามที่ผู้ถือหุ้นได้มีการหารือกัน อย่างไรก็ดี พนักงานบัญชีของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้รายงานต่อนางสมพร ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และกรรมการท่านอื่นว่า บริษัทยังมีลูกหนี้ค้างชำระหนี้อีกประมาณ 11 ล้านบาทเศษ สมควรติกตามหนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งนางสมพร และกรรมการท่านอื่นเห็นสมควรกับแนวทางดังกล่าว จึงยังไม่ได้ดำเนินการเลิกกิจการ"
เอกสารประกอบการพิจารณาของ กกต. ไม่ชี้แจงวันโอนหุ้น
เอกสาร คำชี้แจงข้อกล่าวหา ของนายธนาธร ระบุว่า "กรณีเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามที่มีการอ้างถึงนั้น เป็นเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ อบจ.5) ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ฉบับลงวันที่ใด ซึ่งท่านใช้เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาตามข้อกล่าวหา"
"การที่ท่านตรวจสอบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่งไว้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายหลังจากวันที่ 8 ก.พ. 2562 กกต. พบว่า ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ปรากฏว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้อย่างไร เนื่องจากเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งได้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายหลังจากวันที่ 8 ก.พ. 2562 ไม่มีรายชื่อของตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด"
ทั้งนี้ นายธนาธรได้มีข้อต่อสู้โต้แย้งคำร้องคดี ที่สำคัญ คือ
1.ข้อบกพร่องในรูปแบบและขั้นตอนในสาระสำคัญอย่างร้ายแรงและความไม่มีอำนาจของกระบวนการยื่นคำร้องคดีนี้
ในเอกสารฉบับนี้ยังระบุเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ว่า "กรณีคำกล่าวหาตนเรื่องลักษณะต้องห้ามนั้น ตนขอโต้แย้งว่า ช่วงเวลาแห่งการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นั้น ได้สิ้นสุดลงแล้ว ส่วนเรื่องการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. แต่อย่างใด กกต. จึงต้องรอให้มีการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อน และหาก กกต. เห็นว่า ส.ส. รายใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเช่นนี้ กกต. ต้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น ตราบใดที่ท่านยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ตราบนั้นก็ยังใช้อำนาจยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหาได้ไม่"
ส่วนกรณีระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้ชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 132 กำหนดให้ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการไต่สวนแล้วมีหลักฐานควรเชื่อว่า ผู้สมัครผู้ใดกระทำการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายนั้นไม่เกิน 1 ปี ซึ่งความรับผิดนี้ใช้สำหรับประเภทความผิดอันเกิดจากการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เห็นได้ว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหลังวันเลือกตั้ง แต่เป็นช่วงเวลาก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กกต. ซึ่งเป็นองค์กรเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจตีความขยายขอบเขตอำนาจของตนโดยปฏิปักษ์ต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรได้ ฉะนั้น กระบวนการพิจารณาของ กกต. จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ขัดต่อกฎหมายและปราศจากฐานอำนาจตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยสิ้นเชิง"
ทั้งนี้ นายธนาธรมีข้อต่อสู้ว่า ผู้ร้องมีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของผู้ร้อง จนถึงก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และในกรณีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เฉพาะกรณีสมาชิก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ตามนัย มาตรา 54 ประกอบ มาตรา 53 แห่ง พ.ร.ป. ฉบับเดียวกัน ข้อเท็จจริงคดีนี้ ภายหลังจากวันเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ผู้ร้องได้รับคำร้องเรียนเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 และต่อมา เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ผู้ร้องได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยเหตุที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้องดำเนินการสืบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป เพราะเป็นช่วงระยะเวลาหลังวันเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่จำหน่ายคำร้องเรียนออกจากสารบบความ ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การดำเนินการของผู้ร้องนับแต่ได้รับร้องเรียนเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 เป็นต้นมาจนถึงการยื่นคำร้องต่อศาลคดีนี้ เป็นการกระทำที่ปราศจากฐานอำนาจทางกฎหมายโดยสิ้นเชิง
2.บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ปิดกิจการสื่อมวลชน
บริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสารและเลิกจากพนักงานทั้งหมดของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2561 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 บริษัท วี-ลัค มีเดีย ได้จดแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เรื่อง การหยุดกิจการชั่วคราว และนับแต่นั้นมา จนกระทั่งปิดกิจการ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งสิ้น 145 คน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ได้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด
อีกทั้ง บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก่อนปิดกิจการได้ประกอบกิจการ ผลิตสื่อ นิตยสาร WHO (หยุดตีพิมพ์ ต.ค. 2559) และ นิตยสาร JibJib ที่แจกบนสายการบินนกแอร์
3.ธนาธรโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562
โดยหลักฐานสำคัญคือเช็คเลขที่ H11309959 ฉบับลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 เป็นเช็คที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 6,750,000 บาท สอดคล้องกับจำนวนหุ้นทั้งหมดที่นายธนาธรได้โอนขายให้แก่นางสมพร
ส่วนประเด็นที่มีการอ้างถึงการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 นั้น เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 4 คน และมีผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นซึ่งมิได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองทั้ง 6 คน เข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 รวมมีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 10 คน โดยรายงานการประชุมระบุชื่อผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ปรากฏชื่อนายธนาธร และนางรวิพรรณ
อ่านรายละเอียด :
คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาวีลัค (ธนาธร) 76 หน้า
คำคัดค้านคำชี้แจง (กกต.) 6 หน้า
สารบัญหมายพยานเอกสารของศาล (ศาลรัฐธรรมนูญ) 14 หน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง