ไม่พบผลการค้นหา
เวทีแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะเป็นไฮไลต์สำคัญนับจากนี้

เพราะเป็นเกม “คู่ขนาน” ควบคู่กับการหักเหลี่ยม – เฉือนคม ในเกมชิงอำนาจการเมืองภาพใหญ่ ที่เตรียมการเลือกตั้ง

ภายหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีผลบังคับใช้ เปลี่ยนจาก ส.ส. 350 เขต ปาร์ติ้ลิสต์ 150 คน มาเป็น ส.ส.เขต 400 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน

โดยระบุในมาตรา 3 ที่ให้ยกเลิกความในมาตรา 83 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

”สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน และสมาชิกจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน”

“การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้งหรือประกาศชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”

พ่วงกับกรอบการคำนวณ มาตรา 91 ที่ว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง 

“เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง”

AFP-หย่อนบัตรเลือกตั้ง-หีบบัตร-กกต.jpg

แน่นอนว่า เมื่อเปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง ย่อมทำให้ “ผู้เล่น” มีทั้งได้เปรียบ - เสียเปรียบในเกมนี้ จึงทำให้เกมการแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ จะกลายเป็นศึกประลองกำลัง

นั่นเพราะในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นเพียงแค่ “กรอบกว้างๆ”

แต่วิธีการคำวณคะแนนต่างๆ จะไปปรากฏกันที่กฎหมายลูก คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในเวทีแก้กฎหมายลูก แบ่งกลุ่มได้ 2 กลุ่มหลัก  

กลุ่มหนึ่ง ยึดกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2554 ซึ่งใช้ในการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 แบบเลือกคนที่ใช่ - พรรคที่ชอบ 

คะแนน ส.ส.เขต 400 เขต ไม่นำมานับคะแนนตกน้ำ ใครชนะก็ชนะไปเลย ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็จะคำนวณจากบัตรเลือกตั้งของพรรคการเมือง 

ซึ่งการคำนวณ ส.ส.ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามสูตรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะมาเป็นร่างหลักของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นร่างกฎหมายหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการต่อไป โดยมีพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน 

โดยฝั่งวิปรัฐบาล เตรียมร่างของพรรคร่วมรัฐบาลไว้อีก 1 ร่าง ที่วิธีคำนวณสอดคล้องกับร่าง กกต. ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็เตรียมร่างแก้ไขกฎหมายลูกที่สอดคล้องไปในแนวเดียวกัน กับ กกต. เช่นกัน  

ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.มาตรา 28 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน 

“มาตรา 123 เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการ ดังนี้

(1) ประกาศผลการรวมคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

(2) ประกาศผลการรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด

(3) ให้รายงานประกาศผลการรวมคะแนนตาม (1) และ (2) ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จังหวัด) เพื่อรายงานคณะกรรมการโดยเร็ว เพื่อให้การรวมคะแนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลช่วยเหลือในการรวมคะแนนได้ตามความจำเป็น”

คู่ขนานกับ มาตรา 30 ให้ยกเลิกความในมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 128 เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ จากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชี รายชื่อทั้งประเทศ

(2) ให้นําคะแนนรวมจาก (1) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ย ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

(3) ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละ พรรคการเมืองจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมือง ได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจํานวนเต็มคือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรค การเมืองนั้น

(4) ในกรณีที่จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (3) เป็นเศษที่มีจํานวนมากที่สุด ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมด ได้รับรวมกันครบจํานวนหนึ่งร้อยคน

(5) ในการดําเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนน เท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการ กําหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะ ได้รับตามผลการคํานวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชี รายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทําขึ้น”

แน่นอนว่า สูตรเลือกตั้งนี้ถูกใจพรรคใหญ่ โดยเฉพาะแชมป์เก่า “พรรคเพื่อไทย” หัวขบวนฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ คู่แข่งตัวฉกาจที่มีทั้งอำนาจรัฐ - อำนาจทุน

ประวิตร พลังประชารัฐ วันเกิด 495.jpg

แต่ฝ่ายที่เสียเปรียบ และไม่ถูกใจคือ กลุ่มพรรคกลาง พรรคเล็ก ที่ได้ประโยชน์จากกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 

ไม่แปลกที่ “น.พ.ระวี มาศฉมาดล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ระดมความคิดจากพรรคเล็ก เตรียมเสนอร่างกฎหมายลูก ยึดหลักคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และการคำนวนคะแนนบัญชีรายชื่อต้องไม่มีขั้นต่ำ เช่น หากมีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 350,000 -370,000 ต่อ 1 ส.ส.นั่นทำให้ หากได้ 340,000 คะแนน เสียงของประชาชนก็จะตกน้ำทั้งหมด ตามกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แบบ MMP 

ซึ่งพระรองในฝ่ายค้านอย่าง “ก้าวไกล” ที่ประสบความสำเร็จกับกติการัฐธรรมนูญ 2560 ก็เตรียมร่างกฎหมายลูกทั้งสองแบบ ทั้ง แบบเลือกคนที่ใช่ – พรรคที่ชอบ และ สูตรคะแนนไม่ตกน้ำ แบบ MMP 

ในเดือน ธ.ค. แต่ละฝ่ายจะเสนอร่างกฎหมายของตัวเองเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา แม้บางร่างจะถูก “ตีตก” แต่วงประชุมในชั้นคณะกรรมาธิการ ก็จะต้องสู้กันเดือดแน่นอน 

ฝ่ายค้าน เพื่อไทย ก้าวไกล ชลน่าน สภาผู้แทนราษฎร 722.jpg

แม้ว่ากลุ่มใหญ่ที่สุด เพื่อไทย – พลังประชารัฐ ต้องการใช้กติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2554 แบบไม่นับคะแนนตกน้ำ แต่พรรคกลาง พรรคเล็ก ย่อมไม่ให้ผ่านไปง่ายๆ 

เพราะชัยชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ชี้ขาดอยู่ที กฎหมายลูก...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง