ไม่พบผลการค้นหา
อดีต รมว.คมนาคม ยกตำราการบริหารงาน เทียบแผนจัดการแพร่ระบาดไวรัสระลอกสอง ชี้กลยุทธ์เป็นปัจจัยสำคัญ ต้องดำเนินการจริงจังไม่ลูบหน้าปะจมูก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยแพร่แนวคิดความสำคัญของกลยุทธ์ ผ่านเฟซบุ๊กว่า 'กลยุทธ์' (Strategy) เป็นสิ่งสำคัญที่เรามักจะพูดถึงเป็นเรื่องแรกๆ ในการบริหารงาน บางทีอาจจะเพราะว่ามันฟังดูเท่และเหมือนเป็นมืออาชีพ ตนเองตอนทำงานแรกก็มั่วไป เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า 'กลยุทธ์'

จนกระทั่งได้มาอ่านหนังสือ Good Strategy Bad Strategy ที่เขียนโดย ริชาร์ด พี รูเมลต์ หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี 2012 คนเขียน เป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์องค์กร

รูเมลต์เขาศึกษากลยุทธ์ที่แย่และดีในหลายๆองค์กร ซึ่งเขาพบว่ากลยุทธ์ที่แย่มักจะมีลักษณะอย่างน้อยหนึ่งในสี่ข้อนี้

  • ฟุ้ง (Fluff) มีแต่คำพูดสวยหรู สร้างภาพ แต่ไม่มีสาระ
  • ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทายหรือปัญหาที่แท้จริง
  • เข้าใจผิดว่าเป้าหมายคือกลยุทธ์ กลยุทธ์ที่แย่หลายๆอันเป็นเพียงแค่ความปรารถนามากกว่าแผนการทำงานจริงๆ เช่น จะทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่มีแผนว่าจะทำอย่างไร
  • เป้าหมายของกลยุทธ์คลาดเคลื่อน เป้าหมายไม่พูดถึงเรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของความท้าทาย

รูเมลต์ อธิบายถึงแก่น (Kernel) ของการพัฒนากลยุทธ์ที่ดี ไว้ง่ายๆสามขั้นตอนคือ

1. Diagnosis วิเคราะห์สถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร อะไรคือความท้าทาย อุปสรรค ที่แท้จริง

2. A Guiding Policy นโยบายหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายนั้น

3. A Set of Coherent Actions แผนการทำงานที่สอดคล้องกันทุกหน่วยงานเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย Guiding Policy


ปัจจัยของความผิดพลาด

กลยุทธ์ที่แย่มักจะเกิดจากความผิดพลาดในสามขั้นตอนนี้ เช่น ไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ไม่กล้าพูดถึงปัญหาหลัก นโยบายหลักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแต่ละหน่วยงาน ถ้าลองยกตัวอย่างกรณีการระบาดครั้งใหม่ของโควิด 19 ในส่วนของกลยุทธ์ย่อยในการควบคุมจุดเริ่มของการระบาด จากมุมมองของประชาชนคนหนึ่ง

Diagnosis การวิเคราะห์: การระบาดส่วนหนึ่งเริ่มจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบข้ามแดน การเปิดบ่อนการพนัน เมื่อผิดกฎหมายก็ไม่สามารถควบคุมเรื่องการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง รวมถึงการพยายามปกปิดข้อมูล ทำให้การระบาดแพร่กระจายมากขึ้น

Guiding Policy นโยบายหลัก: ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วม

Coherent Actions: ทำแผนปฎิบัติการร่วมกันทุกหน่วย จริงจังในการปฏิบัติ ไม่ลูบหน้าปะจมูก ลงโทษผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่ปล่อยปละละเลย ให้รางวัลในการชี้เบาะแส

"ถ้าเราเริ่มต้นการวิเคราะห์ว่า ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ไม่มีบ่อน ไม่มีการลักลอบข้ามชายแดน ไม่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายกลยุทธ์ก็จะไปเน้นไปที่การควบคุมคนที่ทำถูกกฎหมายแทน เพราะทำได้ง่ายกว่า สั่งปิด-สั่งเปิดได้ง่ายกว่า แต่ปัญหาและความท้าทายจริงๆไม่ได้รับการแก้ไข ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านในการร่วมกันต้านภัยโควิดครั้งนี้ครับ สำหรับประชาชนทั่วๆไป กลยุทธ์ที่เราทำได้คงจะเป็น การดูแลตนเองและครอบครัวให้ดีที่สุดครับ"

อ่านเพิ่มเติม