ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำศาสนาอิสลามร่วมประชุมที่มาเลเซีย พร้อมเรียกร้องประเทศมุสลิมทั่วโลก 'ไม่ซื้อสินค้าจีน' เพื่อตอบโต้กรณีชาวมุสลิมอุยกูร์นับล้านคนถูกกักตัวในค่ายปรับทัศนคติ ย้ำ ประเทศมุสลิมเป็นมิตรกับจีน แต่ "เพื่อนต้องเตือนเพื่อน" ให้รู้ว่าอะไรถูกต้อง

โมดี อัสรี บิน ไซนัล อะบิดีน ผูู้นำศาสนาในรัฐปะลิสของมาเลเซีย แถลงต่อที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยศาสนาอิสลาม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2019 เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ร่วมกันไม่ซื้อสินค้าจากจีน เพื่อกดดันให้จีนสั่งระงับโครงการค่ายปรับทัศนคติ ("re-education" camps) ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวนมากที่อยู่ในเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกของจีน และมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบังคับให้ชาวอุยกูร์จำนวนมากเข้าร่วมโครงการโดยไม่สมัครใจ

โมดี อัสรี ระบุว่า ประเทศสมาชิก OIC ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังทางเศรษฐกิจ มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าจึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศสามารถทำได้ เพื่อกดดันให้จีนตระหนักถึงผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ และเรียกร้องให้จีนยุติการกระทำที่เข้าข่ายเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งศาสนา

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้นำตัวชาวอุยกูร์นับล้านคนไปเข้าค่ายที่เรียกว่า 'ค่ายฝึกอบรม' หรือ 'ค่ายปรับทัศนคติ' ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตและสิทธิด้านการนับถือศาสนาของชาวอุยกูร์ เพราะเป็นความพยายามโน้มน้าวชักจูงให้ชาวอุยกูร์เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการดำเนินชีิวิต

แม้รัฐบาลจีนจะปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวมาโดยตลอด แต่สื่อต่างประเทศหลายสำนัก รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ อ้างอิงเอกสารที่ถูกนำมาเผยแพร่ ระบุว่าการนำตัวชาวอุยกูร์ไปเข้าค่ายปรับทัศนคติมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีน

อุยกูร์-ซินเจียง-มุสลิมจีน-Uighur-Xinjiang-ตำรวจจีน-อุรุมชี.jpg

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา 20 ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ได้ร่วมลงนามสนับสนุนให้คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เคลื่อนไหวกดดันจีนให้ยุติโครงการปรับทัศนคติชาวอุยกูร์ รวมถึงเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ร่วมกันหาทางแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ แต่รัฐบาล 14 ประเทศที่เป็นสมาชิก OIC กลับสนับสนุนจีน โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจีนได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วเพื่อปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน

มูฮัมเหม็ด เลวาโกวิช ตัวแทนจากประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ผู้เข้าร่วมการประชุมในกรุงกัวลาลัมเปอร์ครั้งนี้ ระบุด้วยว่า ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมล้วนเป็น 'มิตรของจีน' ทั้งสิ้น จึงไม่มีทางที่พวกเขาจะ 'เผชิญหน้า' กับจีนเพื่อกดดันในประเด็นชาวอุยกูร์อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เลวาโกวิชยืนยันว่า "เพื่อนควรจะบอกความจริงแก่เพื่อน และเพื่อนควรจะเตือนจีนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่เป็นผลดีกับจีน และไม่ดีกับชาวอุยกูร์ด้วย แต่หลายๆ คนก็ไม่กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด"

ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. เดอะนิวยอร์กไทม์ส สื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯ เผยแพร่เอกสาร 403 หน้าซึ่งระบุว่าเป็นแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งได้กล่าวอ้างถึงสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี 'สีจิ้นผิง' ผู้นำจีน ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ปรานีต่อผู้ก่อการร้าย อันหมายถึงชาวอุยกูร์ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน รัฐสภายุโรปแสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการมอบรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่ลูกสาวของ 'อิลฮัม ต็อตติ' นักวิชาการชาวอุยกูร์ซึ่งถูกทางการจีนจับกุมและควบคุมตัว

ที่มา: Aljazeera/ Free Malaysia Today

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: