ประชาชนชาวชิลีจะลงประชามติว่า พวกตนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทั่วทั้งประเทศโดยพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 4 ก.ย.ที่จะถึงนี้ หลังจากรัฐบาลชุดใหม่ของบอริกที่ได้รับการเลือกตั้ง และโค่นอำนาจรัฐบาลอนุรักษ์นิยมชุดเก่า จากการมอบคำสัญญากับประชาชนว่าพวกตนจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ
“ผมรู้ และชาวชิลีต่างระลึกได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยเหตุนี้ เพื่อนร่วมชาติที่รักทั้งหลาย ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย” บอริกกล่าวต่อประชาชนชาวชิลี หลังจากได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาถกเถียงกันในสภารัฐธรรมนูญชิลีมาอย่างยาวนาน
“โดยการไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางกฎหมาย ที่อาจเกิดขึ้นจากเนื้อหาในข้อความที่จะถูกอภิปรายกันในเดือนหน้า มีบางสิ่งที่ชาวชิลีจะต้องภาคภูมิใจ คือในช่วงเวลาของวิกฤตทางการเมือง สถาบัน และสังคมที่ลึกซึ้งที่สุด ที่บ้านเกิดของเราต้องประสบมาอยู่มาหลายสิบปี ชาวชิลีเลือกหนทางประชาธิปไตยที่มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง” บอกริกกล่าว
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะได้รับการลงประชามติในชิลี เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างไปจากแนวคิดของรัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งได้รับอิทธิพลในการร่างจากนักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมหลายครั้ง แต่ชาวชิลีจำนวนมากกล่าวโทษว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำชิลีมาซึ่งปัญหาความไม่เท่าเทียม หลังจากที่มันถูกประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลเผด็จการของ ออกุสโต ปิโนเชต
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกเสนอขึ้นมานี้ เน้นเนื้อหาไปที่ปัจจัยทางสังคม และระบบนิเวศวิทยา พร้อมกันการสถาปนาสิทธิชนพื้นเมืองในชิลี และการออกแบบระบบสาธารณสุขแบบใหม่ของชิลี การนำเสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงยาวนานของประชาชนตั้งแต่ปี 2562 ทำให้อดีตประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเญรา ยอมเปิดให้มีการจัดประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา
จนกระทั่งในปี 2563 ประชาชนชาวชิลีกว่า 78% ลงประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อเลือกสมาชิกสภารัฐธรรมนูญในการเข้ามาทำหน้าที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศในปี 2564 ที่ผ่านมา ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะได้รับการลงประชามติในช่วง ก.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อตัดสินอนาคตประชาธิปไตยของชิลีต่อไป
ที่มา: