ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวพื้นที่หนาว ระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ระบบเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เผยสถิติปี 62 อาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ตาย 1 ราย ป่วย 5 ราย ขณะที่กรมอนามัยเตือนกินปิ้งย่าง ต้องดับไฟเตาให้สนิท ป้องกันไฟไหม้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น ประกอบกับในสัปดาห์นี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมเดินทางไปเที่ยวตามภูเขา ยอดดอยและเข้าพักตามโรงแรม รีสอร์ต หรือบ้านพักต่างๆ และที่พักอาจใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สแทนระบบไฟฟ้า นักท่องเที่ยวจึงควรเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สระหว่างการอาบน้ำได้ 

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส รวมทั้งหมด 4 เหตุการณ์ เป็นผู้ป่วย 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย เกิดเหตุในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และธันวาคม ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 3 ราย และเพชรบูรณ์ 3 ราย เหตุเกิดตามสถานที่พักต่าง ๆ ได้แก่ รีสอร์ต 4 ราย ที่พักราชการอุทยานแห่งชาติ 1 ราย และบ้าน 1 ราย โดยพบว่าเหตุการณ์เกิดจากการอาบน้ำ หรือทำกิจกรรมในห้องน้ำเป็นเวลานาน

นพ.โอภาส กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้อาบน้ำป่วยและเสียชีวิต เกิดจากการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จะมีการเผาไหม้เพื่อนำความร้อนไปทำให้น้ำอุ่น แต่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ หากสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไป ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จะไปเกาะจับเม็ดเลือดแดงแทนออกซิเจน ทำให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ ก๊าซโพรเพนสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะไปแทนที่ออกซิเจนในอากาศ ทำให้ผู้ที่สูดอากาศเข้าไป เกิดภาวะขาดอากาศหายใจตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ 

นพ.โอภาส แนะนำว่า เจ้าของกิจการควรตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และติดในห้องที่มีการระบายอากาศเพียงพอ หรือเพิ่มการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ผู้ที่เข้าพักต้องสังเกตอาการตัวเอง หากวิเวียนหน้ามืดหมายใจลำบาก ต้องรีบปิดเครื่องและออกจากห้องน้ำทันที พร้อมติดตั้งถังออกซิเจนหรือมีออกซิเจนกระป๋องวางตั้งไว้ในจุดที่ใกล้กับห้องน้ำ

ด้านกรมอนามัยเตือนกินปิ้งย่าง เสี่ยงรับ 3 สารอันตราย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประชาชนที่นิยม กินอาหารปิ้งย่างหรือรมควัน หรือเมนูหมูกระทะเป็นประจำ อาจทำให้เสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ สารไนโตรซามีน (nitrosamines) พบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยง สารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร สารพัยโรลัยเซต (Pyrolysates) พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง สารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า และสารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอชลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง หากกินเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งจากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่ามะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในประเทศไทยอันดับหนึ่งคือมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวน 15,305 คน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากทำการปิ้งย่างกินเอง ควรเลือกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วนหรือที่มีไขมัน  ติดน้อยที่สุด หรือควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไปก่อน เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน ถ้าต้องปิ้งย่างบนเตาถ่านธรรมดา ควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะการเผาไหม้ จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ที่สำคัญควรใช้ใบตองห่ออาหารก่อนจะทำการปิ้งย่าง เพื่อเป็นการลดปริมาณไขมันจากอาหาร  ที่หยดลงไปบนถ่าน ซึ่งจะทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตอง และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด แต่หากกินตามร้านอาหาร เช่น ร้านหมูกระทะ ควรเลือกร้านที่ใช้ภาชนะการปิ้ง ย่าง ที่สามารถลดหรือป้องกันน้ำมันหยดลงบนเตาไฟได้ เข่น ใช้เตาไฟฟ้า หรือเตาไร้ควัน ซึ่งสามารถควบคุมระดับความร้อนได้มากกว่าการใช้เตาถ่าน หรือเลือกร้านที่ได้รับป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จากกรมอนามัยก็จะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย

นพ.สุวรรณชัย กล่าว ​สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทแคมป์ปิ้ง กางเต้นท์ในเขตพื้นที่อุทยาน และที่นิยมปรุงอาหารเอง โดยเฉพาะเมนูปิ้งย่าง หมูกระทะ บริเวณที่พักนั้น สิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังคืออันตรายจากเตาไฟที่ใช้ เพราะหากเป็นกรณีใช้เตาถ่านในการปิ้งย่าง หลังกินเสร็จต้องมั่นใจว่ามีการดับถ่านในเตาไฟจนสนิท เพราะหากไม่ระวังอาจทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้ หรือในกรณีของการใช้เตาไฟฟ้าก็ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สายไฟไม่ชำรุด เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง