วันที่ 15 ต.ค. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อซักซ้อมความใจในแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระหว่าง กสทช., ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย โดยถือเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการเผยแพร่และนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทุกฝ่ายประสานการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้น โดยข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 2 ระบุไว้ว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
ขณะที่ในส่วนบทบาทของกระทรวงฯ ที่ผ่านมาก็มุ่งแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลหรือนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมายสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการ์ช่วงนี้ คือ มาตรา 14 (2), 14 (3) และมาตรา 27
ทั้งนี้ มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อกระทรวงฯ มีคำสั่งศาลถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังไม่ดำเนินการนำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออก มาตรา 27 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
พุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และดำเนินการต่อข้อมูลและเว็บไซต์ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้ความร่วมมือทำการลบ/ปิดกั้นข้อมูลและเนื้อหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนของการละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
“ทุกคนสามารถแสดงสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล เว็บไซต์ต่างๆ ขอให้กระทำด้วยความระมัดระวัง งดเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือนหรือข่าวปลอม รวมถึงต้อง ไม่ยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในสังคม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ต้องไม่ละเมิดสถาบันหลักของประเทศ เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ล่าสุดด้วย” พุทธิพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หรือตามโซเชียลมีเดียแล้ว อยากให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายติดตามการไลฟ์สดด้วย ซึ่งกระทรวงและรัฐบาลได้ติดตามและเก็บข้อมูลไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2563 บางกลุ่มอาจมองว่าไม่มีปัญหา ไลฟ์สดไปเรื่อยๆ แต่หากพบว่าการไลฟ์สดนั้นมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการตามกฏหมายทันที
ยิ่งตอนนี้ทางรัฐบาลได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนระมัดระวังการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือนไม่เป็นจริง และไม่อยากให้มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น จึงอยากฝากให้ประชาชนระมัดระวัง เพราะมีการมอนิเตอร์ทุกชั่วโมง โดยวันที่ 16 ต.ค. 2563 ตนจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษทราบด้วย