นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมทราบดีว่า ‘ชั้นบรรยากาศ’ ของโลกกำลังมีปัญหา แต่พวกเขาก็ไม่เคยระบุความเสียหายได้อย่างชัดเจน ขณะที่ปุถุชนยังสามารถเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อได้
5 พ.ค.ที่ผ่านมา ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็สามารถแปลงผลกระทบที่ทุกฝ่ายรับรู้แต่จับต้องไม่ได้ออกมาเป็นตัวเลขตามมาตรวัดสากล
วิจัยด้านสิ่งแวดล้อมชิ้นล่าสุดช้ีว่า ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ออกมาในรูป ‘แก๊สเรือนกระจก’ หรือ greenhouse gas (GHG) อาทิ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน หรือ ไนตรัสออไซด์ ที่เกิดจากการเผาป่า, ทำปศุสัตว์ หรืออุตสาหกรรมหนัก ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศโลกในชั้น ‘สตราโทสเฟียร์’ มีความหนาลดลง
ผลการศึกษาจากทั้งข้อมูลดาวเทียมร่วมกับทฤษฎีสภาพภูมิอากาศพบว่า นับตั้งแต่ ค.ศ.1980 มาจนถึงปี 2018 ความหนาของชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ลดลง 0.4 กิโลเมตร เมื่อพิจาณาแนวโน้มผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ต่อไปในอนาคต ภายในปี 2080 ความหนาของชั้นบรรยากาศดังกล่าวจะลดลงรวมทั้งสิ้น 1.3 กิโลเมตร
แม้งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งทิศทางการศึกษาไปที่ผลกระทบหากชั้นบรรยากาศโลกมีความหนาลดลงเรื่อยๆ ทว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ระบบปฏิบัติการดาวเทียม, ระบบนำทางผ่านการตรวจจับสัญญาณดาวเทียม (GPS) ไปจนถึงการสื่อสารทางวิทยุจะได้รับผลกระทบ
ถัดขึ้นไปจากพื้นผิวโลกที่มนุษย์เงยขึ้นไปมองแล้วเรียกว่า ‘ท้องฟ้า’ แท้จริงแล้วเป็นบรรยากาศของโลก หรือหมายถึง ‘ชั้น’ ของแก๊สชนิดต่างๆ ที่ปกคลุมดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่
นักวิทยาศาสตร์แบ่งชั้นบรรยากาศของโลกออกเป็น 5 ระดับ :
การหดตัวของชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ไม่ได้หมายความว่าชั้นบรรยากาศตรงนั้นหายไปไหน แท้จริงแล้วคือการที่ แก๊สจำพวก GHG ที่ถูกส่งออกไปบนชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์เพิ่มสูงขึ้น ส่งให้บรรยากาศชั้นแรกของโลกขยายตัวไปเบียดพื้นที่ของสตราโทสเฟียร์
เท่านั้นยั้งไม่พอ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หลุดรอดเขาไปยังชั้นสตราโทสเฟียร์ได้มากขึ้นเท่าไหร่ อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นที่สองนี้ยิ่งลดลง เมื่ออุณหภูมิลดลง จึงกดดันให้บรรยากาศในชั้นนี้หดตัวมากขึ้น
ฮวน อเนล หนึ่งในนักวิจัยของงานศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ข้อค้นพบดังกล่าวกลับมาย้ำเตือนอีกครั้งว่า ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์สามารถส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโลกที่สูงขึ้นไปกว่า 60 กิโลเมตรเหนือผิวโลกได้
จึงไม่แปลกที่เพื่อนนักวิจัยอีกคนในงานศึกษาเดียวกันจะทิ้งท้ายว่า “มันทำให้ผมใคร่อยากรู้เสียเหลือเกินว่ายังมีอะไรอีกไหมที่เปลี่ยนไปในชั้นบรรยากาศที่พวกเรายังไม่ค้นพบ”
อ้างอิง; The Guardian, Science Alert