ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยบุตร' ชงโละบทเฉพาะกาล มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่ง คสช. และ มาตรา 272 อำนาจส.ว. 250 คน เรียกร้องตั้ง ส.ส.ร. หนุนแก้ รธน.ก่อนยุบสภา

ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในการประชุม กมธ.วันนี้ (7 ส.ค. 2563) เป็นการพูดถึงบทเฉพาะกาล ซึ่งตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่วางไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.ซึ่งตามความเห็นของตนสิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องแก้ไขไปก่อนคือเรื่องการยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งรับรองให้บรรดาประกาศคำสั่งและการใช้อำนาจต่างๆ ของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

ทั้งที่มาตรา 279 เหมือนหลุมดำของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะยกเว้นให้กับการใช้อำนาจของ คสช.ตลอดช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบทเฉพาะกาลควรจะมีผลใช้บังคับชั่วคราว แต่กลายเป็นว่ามาตรา 279 ใช้บังคับตลอดกาล อย่างนี้ไม่ใช่เฉพาะกาล แต่เป็นบทสืบทอดอำนาจและรับรองการใช้อำนาจ บทป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจต่างๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่เป็นหัวหน้า คสช.ขัดรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีจะมีการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 269, 270, 271 และ 272 ซึ่งว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล 250 คน มีเวลา 5 ปี ซึ่งตนเห็นว่าเวลานี้ภารกิจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลได้สิ้นสุดลงไปแล้ว คือ ได้เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่ายในกรณีที่หากจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นครั้งหน้า ตนคิดว่า ส.ว. ทั้ง 250 คนควรต้องยุติบทบาทตรงนี้ 

ส่วนคนที่มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญ สามารถกลับเข้ามาสมัครใหม่เป็น ส.ว.ตามช่องทางปกติได้ และถ้ากังวลใจว่า ส.ว. 250 คนจะคอยประคับประคองรัฐบาลโดยเฉพาะเวลาออกกฎหมายปฏิรูป ตนเห็นว่าเรื่องนี้แทบจะไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะเสียงของรัฐบาลเวลานี้ทิ้งขาดฝ่ายค้านไปกว่า 60 เสียงแล้ว 

เมื่อถามว่าการแก้มาตรา 256 จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว.สนับสนุนและการแก้มาตราอื่นๆ โอกาสเป็นไปได้แทบไม่มี ปิยุบตรกล่าวว่า มันเป็นปัญหาไก่กับไข่ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกัน ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้ว่า ส.ว.จะต้องมีส่วนแก้รัฐธรรมนูญด้วย ถ้าเราไม่มี ส.ว. 84 คนเป็นอย่างน้อยก็ไม่มีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ดังนั้นตนขอความร่วมมือกับ ส.ว. 250 คนว่าถ้าท่านนั่งอยู่แบบนี้ต่อไป นานวันขึ้นความชอบธรรมก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ตนยังไม่เห็นใครมีความสามารถมาอธิบายเหตุผลการมีอยู่ของ ส.ว.ได้ 

ดังนั้นแทนที่ท่านจะถูกกดดันและไล่ออกไป ตนคิดว่าท่านควรแก้เรื่องนี้ดีกว่า แล้วกลับมาเป็น ส.ว.ตามปกติ และที่สำคัญก่อนหน้านั้น คนจำนวนมากมักพูดว่า ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะแก้รัฐธรรมนูญแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเอง และคนเหล่านี้จำนวนมากก็เข้ามาเป็น ส.ว.ชุดปัจจุบัน และวันนี้ คนเหล่านี้กำลังมาบอกว่าไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งนี้ตนเห็นว่าการไม่มี ส.ว. 250 คนไม่เห็นมีใครกระทบกระเทือนนอกจาก ส.ว.เองเท่านั้น ดังนั้นควรมองภาพใหญ่มากกว่าตัวเองได้ตำแหน่ง    

เมื่อถามว่ามาตราต่างๆ ที่เสนอมาจำเป็นต้องเข้าไปแก้ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือทำเฉพาะประเด็น ปิบุตร กล่าวว่า มีขั้นตอนในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนอยู่แล้ว ซึ่งตนเห็นว่าสามารถเสนอไปพร้อมกันทั้ง 3 ฉบับ คือ ยกเลิก ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล, ยกเลิกมาตรา 279, และแก้ไขมาตรา 256 แล้วจัดให้มี ส.ส.ร. ซึ่งทั้ง 3 ฉบับนี้กว่าจะผ่านความเห็นชอบต้องใช้เวลา แต่คิดว่า 2 ฉบับแรกจะเร็วกว่าเพราะแก้ง่ายมาก ส่วนการตั้ง ส.ส.ร.ก็ดำเนินการไปถึงที่สุดแล้วจะเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องเหล่านี้ได้รับการแก้ไข ตนเชื่อว่าจะทำให้อุณหภูมิความร้อนแรงของการชุมนุมบรรเทาเบาบางลงไปบ้าง ดีกว่าปล่อยอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีการแก้ไขอะไรเลย    

"ในเมื่อทุกวันนี้เรายืนยันแล้วว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประเทศไทยกำลังทยอยกลับเข้าสู่ระบบปกติ ดังนั้นอะไรที่เป็นสิ่งผิดปกติอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ปรากฏอยู่ในบทเฉพาะกาลก็ควรจะต้องยกเลิกออกไป ซึ่งความเห็นของผมคือ 2 เรื่องใหญ่ๆ มาตราสุดท้ายที่รับรองอำนาจของ คสช. และมาตราที่ว่าด้วยอำนาจของวุฒิสภา 250 คน" ปิยบุตร กล่าว      

เมื่อถามว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนยุบสภา เพื่อเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ ปิยบุตรกล่าวว่า เท่าที่ตนได้ฟังที่คนพูดเรื่องยุบสภา คือ หากยุบสภาตอนนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก โดยกลไก ส.ว. 250 คน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หลายพรรคการเมืองรณรงค์ไว้ว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่ามีบางพรรคการเมืองไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตนเชื่อว่าเพราะกติกาที่ ส.ว.ไปเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะหากไม่มี ส.ว. แล้วใช้ระบบปกติ พรรคการเมืองอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลได้แน่ๆ แต่เมื่อมี ส.ว.ทำให้บดบังการตัดสินใจของพรรคการเมืองไปจำนวนมาก

หากเรายกเลิก ส.ว.ออกไป เชื่อว่าหากมีการยุบสภาเกิดขึ้น เชื่อการตัดสินใจของคนที่จะร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และที่สำคัญประชาชนมีอำนาจกำหนดตัวรัฐมนตรีและรัฐบาลอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งก็สุดแท้แต่ที่จะแก้ แต่ในความเห็นของตนระบบเลือกตั้งขณะนี้มีความแปลกประหลาด แต่ตนพยายามละเว้นไม่พูดเรื่องนี้ เพราะจะมากล่าวหาว่าต้องการแก้เพื่อพรรคพวกตัวเอง