ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เปิดเผยตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะมีการปรับเปลี่ยนสัญญาจากการซื้อเรือดำน้ำจากจีน เป็นการจัดซื้อเรือฟริเกตแทนนั้น

21 ต.ค. ผู้สือข่าวถามถึงผลกระทบในเรื่องนี้เพราะกองทัพเรือก็มีแผนจัดซื้อเรือฟริเกตอยู่แล้วในปี 2567 โดยสุทินกล่าวว่า จะไม่กระทบแผนการจัดหาเรือฟริเกตอีก 1 ลำที่กองทัพเรือเตรียมไว้ในงบประมาณปี 2567 

ส่วนลำใหม่หากประเทศจีนตกลงให้เปลี่ยนมาจากเรือดำน้ำ ก็จะได้มาเพิ่ม เพราะจากเดิมกองทัพเรือมีแผนว่าต้องมีฟริเกต 8 ลำ แต่ตอนนี้มีเพียง 4 ลำ หากได้จากงบประมาณปี 2567 อีก 1 ลำ และจากการเจรจาเปลี่ยนจากเรือดำน้ำอีก 1 ลำ ก็จะทำให้กองทัพเรือมีเรือฟริเกต 6 ลำ

สุทิน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีการจัดซื้อต่างๆ ของกองทัพ ต้องดูจากภารกิจการทำงาน ร่วมกับกระแสสังคมในการจัดซื้อ ต้องดูทางยุทธศาสตร์และยุทธการของเขาก่อนว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และหากมีความจำเป็นก็ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจ โครงการที่มีงบประมาณมาก สังคมเขาจ้องมอง จึงต้องเอาทั้ง 2 ส่วนมาประกอบ

อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมจะการจัดตั้งคณะกรรมการไปเจรจาในสัปดาห์หน้า โดยจะถามทางประเทศจีนว่าเป็นคณะกรรมการระดับใด ก็จะจัดคณะกรรมการให้เหมาะสม

เมื่อถามว่ามีแผนสองรองรับหรือไม่ หากไม่มีการเปลี่ยนสัญญาการซื้อขายเรือดำน้ำ นายสุทินกล่าวว่า จะพยายามทำให้จบในกรอบเวลาที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ หากมีเหตุสุดวิสัยก็ต้องมาหารือกันถึงข้อตกลงในสัญญาระบุอย่างไร ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น

ด้านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร ได้รีทวิตข้อความบน x หรือทวิตเตอร์ บทวิเคราะห์ ของเว็บไซค์ชื่อดัง http://ThaiArmedForce.com โดยระบุว่า "กรณีเรือดำน้ำ รวมทั้งกรณีการกู้เรือรบหลวงสุโขทัย กมธ.ทหาร ได้เชิญ กองทัพเรือมาชี้แจงรายละเอียด และข้อเท็จจริงในสัปดาห์หน้าครับผม"

ทั้งนี้ ปัญหาการซื้อเรือดำน้ำจากจีนมีมาตั้งแต่ยุค ผบ.ทร.คนก่อน จากที่ทำสัญญาเป็นเครื่องยนต์จากเยอรมนี ภายหลังเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้จีนเนื่องจากมีข้อกำหนดว่าเครื่องยนต์นี้ใช้ได้เฉพาะกับเรือดำน้ำที่ประจำการในกองทัพเรือจีนเท่านั้น และไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังประเทศที่สาม ทำให้จีนพัฒนาเครื่องยนต์ของตัวเองเข้าแทนที่ สุทินระบุว่า ไทยอยากได้เครื่องยนต์ตามข้อตกลงเดิม ซึ่งกองทัพเรือในยุค ผบ.ทร คนก่อนเจรจาสุดกำลังก็ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุด กองทัพเรือยอมรับเครื่องยนต์จีน

ต่อมาเมื่อมีรัฐบาลใหม่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีพยายามเจรจาอีกครั้งก็ไม่เป็นผล ทางกองทัพเรือได้เสนอ 2 แนวทางหากไม่ได้เรือดำน้ำคือ

1.เรือฟริเกต 3 ระบบ สามารถต่อสู้ ทางอากาศ ผิวน้ำ ใต้น้ำ

2. เรือ OPV เรือตรวจการณ์ระยะไกล

รัฐบาลพิจารณาแล้วว่าเลือกแนวทางที่ 1 คือเรือฟริเกต ซึ่งราคาสูงกว่าเรือดำน้ำ ประมาณ 1,000 ล้านบาท

"ถ้ารับเครื่องยนต์จีนมาใครจะรับประกันหากเรื่องถึงศาล จะมีเรื่องตามมาอีกเยอะ กองทัพหรือรัฐบาลอาจจะโดน ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นแก่ตัว กลัวโดนหลอก แต่จะยุ่งยากทางกฎหมายไทยไม่น้อย จะนำมาซึ่งความแตกแยกหรือเกิดการเมืองอะไรไปอีก กระทบอีกเยอะ" สุทินกล่าว

สุทินกล่าวว่า ราคาที่เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาทนี้จะไม่กระทบงบประมาณ เนื่องจากจะโยกงบมาจากการสร้างอู่เรือดำน้ำ ระยะที่ 3 ที่ยังไม่ทำสัญญา

"สำหรับสมรรถนะของกองทัพรัฐบาลเห็นว่า เมื่อได้เรือฟริเกตมาเราก็สามารถปราบเรือดำน้ำได้ สมรรถนะของกองทัพเรือไม่เสียหายมาก แต่ยอมรับว่า หย่อนลงไปกว่าการมีเรือดำน้ำนิดหนึ่ง ซึ่งกองทัพเรือรับได้" สุทินกล่าวและว่าเบื้องต้นได้พูดคุยกับรัฐบาลจีนแล้ว แต่ยังไม่ 100% เพราะต้องหารือในรายละเอียด

สุทินระบุด้วยว่า กองทัพเรือยังมีโอกาสได้เรือดำน้ำ เพราะไม่ได้ยกเลิกแต่ชะลอเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เสร็จ วันใดที่ประเทศมีความพร้อมก็ดำเนินการเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไปได้ โดยให้กองทัพเรือศึกษาเรื่องนี้ต่อไปว่าจะเอาของประเทศใด

สำหรับเงินที่ไทยจ่ายค่าเรือดำน้ำไปบางส่วนแล้วนั้น ไทยเสนอว่าขอให้เป็นเคลมเป็นค่าเรือฟรีเกต ราว 7,000 ล้านบาท เมื่อหักลบกับที่ยังไม่ได้จ่าย อีก 6,000 ล้านบาท อาจจะต้องเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนราคารวมของเรือฟริเกตลำใหม่นี้ ทางจีนยังไม่ได้พูดเรื่องราคา แต่จากการศึกษา อยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านก็ใกล้เคียงกัน