ตามที่ได้มีข้อวิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ในประเด็นเรื่องการจัดทำงบประมาณขาดดุล งบประมาณรายจ่ายลงทุน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และการจัดสรรงบประมาณนั้น
กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาความเหมาะสมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและสมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความเห็นร่วมกันที่จะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท และวงเงินขาดดุลเต็มจำนวนที่ 7 แสนล้านบาท โดยได้คำนึงถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อข้อสมมติฐานทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในประเด็นที่การขาดดุลงบประมาณจำนวน 7 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณรายจ่ายลงทุนที่อยู่ที่ 6.2 แสนล้านบาทนั้น พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่การตั้งงบประมาณไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้แสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภาพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย ซึ่งในกรณีนี้สำนักงบประมาณได้จัดทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และอยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ