ไม่พบผลการค้นหา
เผด็จการทหารของเมียนมาได้กำหนดให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ต้องใช้เงินสกุลหยวนในการทำธุรกรรมการค้ากับจีนบริเวณพรมแดน เพื่อลดการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ โดยคำสั่งดังกล่าวมีออกเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. จากคณะกรรมการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่มีเผด็จการทหารเมียนมาควบคุม ที่มีการกำหนดให้ผู้ค้าเปิดบัญชีเงินหยวนในธนาคารท้องถิ่น

ทั้งนี้ หากพวกเขาต้องการใบอนุญาตสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ผู้ค้าที่ยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าจะต้องส่งหลักฐานว่า พวกเขามีสกุลเงินหยวนในบัญชีธนาคารของตัวเอง เพื่อให้สามารถรับรายได้ทั้งการส่งออก หรือการซื้อสินค้าจากธนาคารในประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ทั้งเงินเหรียญสหรัฐฯ และเงินหยวนได้รับอนุญาตให้ใช้ในการค้าชายแดนของเมียนมากับจีน

“ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. รายได้จากการส่งออกทั้งหมดจะได้รับเป็นเงินหยวน ไม่ใช่เหรียญสหรัฐฯ” ผู้ค้าบริเวณชายแดนเมียนมากับจีนในพื้นที่มูเซของรัฐฉานกล่าวกับสำนักข่าว The Irrawaddy “ผู้ค้าไม่สามารถนำเข้าสินค้า (จากจีน) ได้ เว้นแต่จะมีรายได้จากการส่งออก ซึ่งจะต้องเป็นเงินหยวนของจีน หากคุณนำเข้าสินค้ามูลค่า 100,000 หยวนจากจีน รายได้จากการส่งออกของคุณต้องมีอย่างน้อย 100,000 หยวน มีการอนุญาตเฉพาะเงินหยวนเท่านั้นสำหรับการค้าชายแดน”

ข้อจำกัดของเผด็จการทหารเมียนมานี้ มุ่งสกัดกั้นการไหลออกของเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่กำลังทำให้ผู้ค้าประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้อีกต่อไป เว้นแต่จะสามารถแสดงรายได้จากการส่งออกในบัญชีธนาคารของตัวเองได้ ในขณะที่ 65% ของรายได้จากการส่งออก จะต้องแปลงเป็นอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการที่ 2,100 จัตต่อเหรียญสหรัฐฯ และในการนำเข้าสินค้านั้น พวกเขาต้องซื้อเงินเหรียญสหรัฐฯ ในตลาดที่อัตรา 2,800 ถึง 3,000 จัต

ผู้ค้าอีกรายกล่าวว่า "ผู้นำเข้าต้องซื้อเงินหยวนจากผู้ส่งออกเพื่อทำการค้า ถ้าเราต้องการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอาหารจากจีน เราต้องซื้อเงินหยวนตามอัตราตลาด ดังนั้นมันจึงมีปัญหา ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น”

ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการทหาร ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงไว้ที่ประมาณ 300 จัตต่อหยวน แต่อัตราตลาดที่แท้จริงนั้นมีมากกว่า 400 จัต ทั้งนี้ CBM ได้ดำเนินการเพื่อให้ขั้นตอนการทำธุรกรรมเงินหยวนราบรื่นขึ้น นับตั้งแต่การค้าข้ามพรมแดนเมียนมากับจีนกลับมาดำเนินการอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 2564

ในปีที่ผ่านมา CBM ได้อนุญาตให้ธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ Bank of China Hong Kong, Industrial and Commercial Bank of China, CB Bank, AYA Bank, UAB Bank, Myanmar Oriental Bank และ Myanma Economic Bank ที่ควบคุมโดยเผด็จการเมียนมา สามารถทำธุรกรรมผ่านเงินหยวนกับจัตสำหรับผู้ค้าข้ามพรมแดนได้

เมียนมาส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ปลายข้าว ถั่วและเมล็ดพืช งา แตงโม ยางพารา และผลิตภัณฑ์ประมง ในขณะที่นำเข้าวัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และยารักษาโรค จากการค้าชายแดนกับจีนเพิ่งชะลอตัวลงเหลือประมาณรถบรรทุก 100 คันต่อวัน

เมื่อเดือนที่แล้ว ฝ่ายกิจการผู้บริโภคของเผด็จการทหารเมียนมา ภายใต้กระทรวงพาณิชย์เมียนมา แจ้งสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของเมียนมา (MISA) ว่า ผู้นำเข้าที่ใช้เงินหยวนแทนเหรียญสหรัฐฯ จะได้รับใบอนุญาตนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าก่อน ทั้งนี้ ผู้ค้าเหล็กและเหล็กกล้าของเมียนมาใช้เพียงเงินเหรียญสหรัฐฯ ในการทำธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า ก่อนที่แรงจูงใจในการใช้เงินหยวนจะหยุดชะงักเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ ฝ่ายกิจการผู้บริโภคเมียนมา ยังได้แจ้งให้ผู้นำเข้ายาให้ใช้สกุลเงินหยวนและเงินบาทแทนเหรียญสหรัฐฯ 

ก่อนหน้านี้ เผด็จการเมียนมามีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และ "การใช้เงินตราต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ" ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวถูกนำโดยพลโทโมมินต์ทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำระบอบรัฐประหารเมียนมา ที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จากการสังหารผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสันติ


ที่มา:

https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-bans-dollars-for-border-trade-with-china.html?fbclid=IwAR0PZFTgQN8G3BVUeihI9rPb_hU8nGboDn6sBOwl6F3u1srinHFlL4i05Zk