ไม่พบผลการค้นหา
"มงคลกิตติ์" ห่วงรัฐบาลซื้อหุ้นกู้ เสี่ยงหนี้เสีย แนะแก้กฎเกณฑ์ขายหุ้นกู้ ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ป้องกันซ้ำรอยขายทรัพย์ ปรส. ระบุรัฐบาลประยุทธ์ ก่อหนี้สาธารณะน้อยกว่ารัฐบาล "อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์"

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายพระราชกำหนด 3 ฉบับเกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ว่า ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดีระดับต้นๆ ของโลกแต่จะต้องแลกมาด้วยเสรีภาพและผลกระทบทางธุรกิจหยุดทำงานอยู่เชื้อเพื่อชาติทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างมหาศาลปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 4 เดือน ทำให้รายได้ลดไป 1.1 ล้านล้านบาท จึงทำให้ต้องเสนอพระราชกำหนด 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท

นายมงคลกิตติ์ กล่าวถึงการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารรัฐบาล 2 ปี 8 เดือน มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 809,048 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่ม 303,393 ล้านบาทต่อปี เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.32 ต่อ GDP , รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศ 2 ปี 10 เดือน หนี้สาธารณะเพิ่ม 1.252 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่ม 442,101 ล้านบาทต่อปี เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.42 ต่อ GDP , ส่วนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศ 6 ปี หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1.48 6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่ม 247,686 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 ต่อ GDP เท่านั้น บริหารหนี้ได้น้อยกว่ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ 1.78 เท่า น้อยกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 1.22 เท่า

ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจประเทศไทย ปี 2563 นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เศรษฐกิจจะติดลบร้อยละ 5.3 ของ GDP , ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ติดลบร้อยละ 6.7 , กลุ่มธนาคารเกียรตินาคินภัทร คาดการติดลบร้อยละ 6.8 โดยสรุปจะมีเงินหายไปจากระบบประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

นายมงคลกิตติ์ อภิปรายถึง พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ซื้อหุ้นกู้เอกชน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้หุ้นกู้เอกชนทั้งระบบมีทั้งหมด 3.6 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามีงบประมาณเข้าไปรองรับร้อยละ 11 ของหุ้นกู้ทั้งหมด จึงต้องพิจารณาว่าหุ้นกู้ที่จะเข้าไปรับรองรับมีคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหน

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า โดยปกติการปล่อยหุ้นกู้จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีเพียงหนังสือการยืนยันปล่อยซื้อหุ้นกู้ และการกำหนดเรตติ้งหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน แต่มาตรา 11 ของพระราชกำหนดให้มีหลักประกันแก่ผู้ถือตราสารหนี้ ตราสารหนี้ที่กองทุนซื้อจะต้องได้รับหลักประกันไม่ด้อยกว่า หลักประกันที่ผู้ออกตราสารหนี้ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่นในคราวเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมามีเอกชนขายหุ้นกู้ เพื่อไปใช้หนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยเครือ CP ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ขายหุ้นกู้ไป 440,562 ล้านบาท เครือ TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขายหุ้นกู้ไป 329,662 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ราย ถือเป็นหุ้นกู้กว่าร้อยละ 20 ของทั้งหมด ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมีแค่เรตติ้งเท่านั้น เช่นเดียวกับ บริษัทการบินไทยมีหุ้นกู้หมื่นล้าน ระดับ A+ แต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน , ปูนซิเมนต์ไทยมีหุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน , บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์มี หุ้นกู้ 14,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้หมดอายุ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับการซื้อหุ้นกู้ของเอกชน ออกเงื่อนไขให้มีหลักเกณฑ์ในการค้ำประกันร้อยละ 30 ถึง 50 เพื่อกันพลาดไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย

นายมงคลกิตติ์ ยังเปรียบเทียบปี 2541 ถึง 2542 มีการขายทรัพย์สินขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือ ปรส. ต่ำกว่าราคาจาก 810,000 ล้านบาท ต้องขายไปในราคา 190,000 ล้านบาท ขาดทุน 62,000 ล้านบาททันที จึงอย่าลืมว่านี่เป็นของแผ่นดินซึ่งนี่ของปี 2540 ยังมีค้างอยู่ 748,000 ล้านบาท จึงอยากฝากให้รัฐบาลควบคุมติดตามการดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยว่าการซื้อหุ้นกู้จะพลาดไม่ได้หากพลาดติดคุก