สิทธิพันธ์ นวอัศวนานนท์ ประธานสหภาพแรงงานการบินไทย (สร.กบท.) พร้อมด้วยสมาชิก และแนวร่วมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ตัวแทนจากคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย (ITF-Thailand) สหภาพแรงงานการทางพิเศษ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านตู้ไปรษณีย์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลวันนี้ (3 พ.ค. 2564)
เพื่อขอสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และขอคัดค้านความเห็นและข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม หลังจากที่บริษัทส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาล อยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้าง และมีกำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเสนอให้รัฐบาล พิจารณาข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
ขณะที่ ศิริพงศ์ ศุกระกาญจนาโชค ประธานสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ได้ส่งหนังสืออีกฉบับถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอชื่อ ‘พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ตามที่พนักงานบริษัทฯ ได้สร้างแคมเปญผ่าน Change.org เพื่อแสดงพลังงานความสามัคคีและร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอชื่อ พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทฯ
โดยในสถานการณ์ที่บริษัทฯ อยู่ในช่วงกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูจึงต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรม มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และมีความรู้ความสามารถเป็นประจักษ์ รวมทั้งมีความเป็นธรรม
ดังนั้นสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์และพนักงานการบินไทย ขอนำเรียนเสนอ พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือบุคคลที่มีคุณสมบัติบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้บริษัทกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่อไป
ทางด้านบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงว่า ตามที่ผู้ทำแผนของบริษัทฯ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ และได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ตามกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย โดยในเบื้องต้น คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ เสนอให้ ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ และ ‘จักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล’ เป็นผู้บริหารแผนที่จะบริหารและจัดการธุรกิจของบริษัทฯ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนต่อไป
ในลำดับถัดไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 12 พ.ค. 2564 ซึ่งหากจะมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมผู้บริหารแผน ก็จะต้องทำตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการก่อนการประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม และการลงมติพิจารณาเป็นอำนาจของเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิลงมติในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเท่านั้น บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ ไม่มีอำนาจขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หรือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมผู้บริหารแผน ซึ่งไม่สอดคล้องกับกระบวนการตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ
ผู้ทำแผนได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการอย่างรอบคอบรัดกุมภายใต้กรอบกฎหมายทุกประการ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย และประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เป็นสำคัญ ภายหลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาล รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง บริษัท การบินไทยฯ พร้อมที่จะกลับมาให้บริการด้านการบินอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป