ไม่พบผลการค้นหา
แบรนด์ ‘ศรีราชาพานิช’ ต้นกำเนิดจากประเทศไทย เตรียมส่งออกซอสพริกไปแข่งกับศรีราชาฝาเขียวเจ้าตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้อพยพชาวเวียดนามผลิตขึ้นมา

ในปี 1979 ณ ลอสแองเจลีส เดวิด ทราน (David Tran) ชาวเวียดนามผู้อพยพไปอยู่สหรัฐฯ และก่อตั้งบริษัท ฮวย ฟง ฟู้ดส์ (Huy Fong Foods) ขึ้น เริ่มผลิตซอสเผ็ดขายแก่บรรดาร้านอาหารเอเชียตามท้องถิ่นของอเมริกา กระทั่งมันได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น เนื่องด้วยรสชาติเผ็ดร้อน และบรรจุภัณฑ์รูปทรงเหมือนไก่ เพราะตัวทรานเองเกิดปีระกา

ในเดือนแรก ซอสพริกดังกล่าวทำเงินให้ทรานกว่า 2,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ จวบจนปัจจุบัน ‘ซอสพริกศรีราชาตราไก่’ ที่ชาวไทยหลายคนเรียกติดปาก ถือเป็นซอสขายดีเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ เลยทีเดียว ความนิยมของซอสพริกศรีราชา น่าจะเติบโตตามจำนวนร้านอาหารเอเชียที่เพิ่มขึ้นช่วงทศวรรษให้หลัง และมันก็เข้าไปนั่งในใจคนอเมริกันอย่างแนบแน่นเสียจนหลายบริษัทผลิตซอส ‘แฟรงส์ เรด ฮ็อต’ กระทั่ง ‘ไฮนซ์’ ต่างก็ตบเท้าพาเรดกันออกซอสศรีราชาตามสไตล์ของตัวเองมาวางจำหน่าย

sriracha0.jpg

“ผมไม่คิดว่ามันจะนิยมได้ขนาดนี้ ผมมาจากเวียดนามโดยไม่รู้วันคืนวันพรุ่ง วันนี้ผมถือว่าพระเจ้าอวยพร” ทรานเคยให้สัมภาษณ์ไว้

ทั้งนี้ งานวิจัยจากไอบีไอเอสเวิลด์ ระบุว่า ซอสศรีราชาตราไก่ (ตามที่เรียกกัน) ครองส่วนแบ่ง ‘ตลาดซอส’ ในสหรัฐฯ มากถึง 9.9 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าตลาดรวม 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่บริษัทจะไม่แข็งแกร่งหากไร้คู่แข่ง ซึ่งเร็วๆ นี้ ความน่าตื่นเต้นกำลังจะเยือนตลาดซอสสหรัฐฯ ภายหลังจากซอสพริกศรีราชาสัญชาติไทย (ฉลากโดดเด่นด้วยสีแดงเหลืองนั่นแหละ) ที่คุ้นลิ้นชาวไทยเป็นอย่างดี ประกาศวัดดวง ส่งผลิตภัณฑ์ของตนเองไปสู้ศึกในอเมริกา

“หากเราได้ 1 เปอร์เซ็นต์ของตลาดซอสสหรัฐฯ ผมว่านั่นก็ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับเราแล้วครับ” บัญชา วิญญรัตน์ รองประธานบริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตซอสพริกศรีราชาพานิช ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

บัญชา วิญญรัตน์_ฺBloomberg
  • บัญชา วิญญรัตน์ (ภาพจาก Bloomberg)

ถึงแม้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบว่า มีซอสพริกศรีราชาฉลากแดง-เหลืองอยู่บนโลก แต่ศรีราชาพานิชมั่นใจว่า ตนเองคือ ‘ออริจินัล’ จากการเริ่มต้นผลิตตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา โดยถนอม จักกะพาก ผู้มีภูมิลำเนาจาก อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อนที่พ่อของบัญชาจะขอซื้อสูตรต่อมาในปี 1984 เพื่อขยายตลาดต่อ

ไทยเทพรส ถือเป็นผู้ผลิตซอสรายใหญ่ที่มีหุ้นซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ไทย โดยตลาดรวมซอสไทยมีมูลค่ามากถึง 8 พันล้านบาทเลยทีเดียว สินค้าหลักของไทยเทพรสคือ ‘ซีอิ๊ว’ ส่วนซอสพริกศรีราชาพานิช คิดเป็นรายได้บริษัท 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบัญชาเชื่อมั่นว่า ซอสพริกฉลากแดง-เหลืองนี้ ได้รับความนิยมในคนไทยไม่น้อยทีเดียวตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้


บุกตลาด ที่ไม่คุ้นลิ้น ไม่คุ้นแบรนด์

อันที่จริงแล้ว ไม่ใช่เพียงศรีราชาพานิชเท่านั้น ที่จะบุกตลาดไกลตัวมากถึง 8,000 ไมล์ แต่ศรีราชาตราไก่ของเดวิด ทรานเอง ก็เล็งจะขยายตลาดสู่ทวีปเอเชียเช่นกัน ภายหลังจากยอดขายในสหรัฐเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่น่าจับตามอง คือเรื่องของรสชาติ และความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) ของลูกค้าในแต่ละตลาด

ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เรารู้ดีว่ารสชาติอาหารจะอร่อยขึ้นเกือบครึ่ง หรือเกินครึ่ง หากอาหารจานนั้นได้เจอซอสเนื้อคู่ และแน่นอนว่า ผู้บริโภคชาวไทยซึ่งบริโภครสชาติจัดจ้าน ต่างมีแบรนด์ชนิดซอสต่างๆ ในดวงใจของตัวเองกันทั้งนั้น

https://www.srirajapanich.co.th
  • ที่มาภาพ www.srirajapanich.co.th

ยิ่งซอสศรีราชาตราไก่ของทราน ผลิตมาจากพริกแดงจาลาปิโน ที่มีปลูกในสหรัฐฯ ส่วนซอสพริกศรีราชาพานิช ที่หนืดข้นน้อยกว่า ใช้พริกชี้ฟ้า ที่ปลูกในภาคกลาง และภาคเหนือของไทยด้วยแล้ว นี่คือความท้าทายด้านรสชาติของทั้งสองผู้ผลิต ที่จะมองข้ามไปไม่ได้

ศรีราชาพานิชมีรสชาติที่หวานกว่าขณะที่ศรีราชาของเดวิด ทราน รสชาติ เผ็ด เปรี้ยว เค็ม ในสหรัฐนิยมรับประทานคู่กับมายองเนส เพื่อตัดรสชาติกัน

“ฉันชอบศรีราชาพานิชนะคะ แต่อาจจะเพราะมันคือรสชาติที่คุ้นลิ้น ส่วนคนอเมริกันก็น่าจะชอบซอสของแบรนด์ฮวย ฟง มากกว่านะคะ เพราะมันก็คือรสชาติที่พวกเขารู้จักมานานเหมือนกัน” หนึ่งในเชฟชาวไทยที่ทำงานร้านอาหารในรัฐอิลลินอยส์ ให้ความเห็น

ข้อถกเถียง 'ใครจริง ใครแท้' ยังไม่จบ

ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงอย่างมหาศาลเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วซอสพริกศรีราชาตราไก่ของทรานนั้น เลียนแบบซอสพริกศรีราชาพานิชที่ผลิตตั้งแต่ 80 ปีก่อนหรือไม่ แต่ทรานเคยให้สัมภาษณ์ว่า คำว่า ‘ศรีราชา’ ที่ถูกนำมาเป็นชื่อแบรนด์นั้น มาจากข้อความบนเรือที่พาเขาอพยพมาจากสหรัฐฯ แต่ภายหลังเขาบอกว่า เป็นชื่อที่เขาได้มาจากตอนเดินทางผ่านไทย และชอบความงดงามของทิวทัศน์ทะเล อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่างหาก

ทว่าก็มีคนไปขุดคุ้ยว่า ทหารไทยที่เคยไปรบในสงครามเวียดนาม ได้นำซอสพริกศรีราชาไทยติดตัวไปด้วย ทำให้แพร่หลายในเวียดนาม เพราะนำไปรับประทานกับเฝอก็เข้ากันดี ซึ่งหลังจบสงครามเวียดนาม เป็นช่วงที่เดวิด ทราน อพยพไปแดนนกอินทรีย์พอดี

ไม่รู้เหมือนกันว่า อะไรจริงแท้อย่างไร เรื่องบังเอิญจะเป็นไปได้แค่ไหน แม้ว่าข้อสงสัยนี้จะยังเป็นความกังขา แต่สิ่งที่น่าจับตาที่สุดหลังจากวันนี้ คงเป็นเรื่องของการบุกตลาดจากซอสพริกศรีราชาไทยมากกว่า

จะรุ่ง หรือร่วง

จะชนะลิ้นชาวอเมริกัน และชนะใจชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียได้หรือไม่?

เป็นคำถามที่เวลาเท่านั้นจะเป็นคำตอบได้

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog