ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช. แจงยุติไต่สวน 'ประวิตร' ครองนาฬิกาหรู หลังพบพยานวัตถุ บุคคล และเอกสาร ยืนยันเป็นของ 'ปัฐวาท' ยกกรณีบางประเทศ กฎหมายไม่เอาผิดทางอาญาและไม่ใช่คดีทุจริตหากแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าสืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1054 – 125/2561 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 พิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม สวมใส่นาฬิกาหรูแต่ไม่แจ้งนาฬิกาดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2557 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่า กรณียังไม่มีมูลเพียงพอว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนา ไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน และให้แจ้งข้อมูลนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ต่อกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช..ได้แถลงข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชนทราบแล้ว นั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2562 ในเวทีการพบปะระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับบรรณาธิการ สื่อมวลชน ได้มีการสอบถามเหตุผลในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อสังคมโดยทั่วกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของนาฬิกาดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งภายในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่านาฬิกาดังกล่าวเป็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คงปรากฏเพียงภาพถ่ายที่ พล.อ.ประวิตร สวมใส่อยู่ ซึ่งรับฟังได้เพียงว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ครอบครองใช้เท่านั้น ส่วนความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงในบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช. ยังฟังยุติไม่ได้ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และพยานบุคคล ต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนของพล.อ.ประวิตร

สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ซื้อนาฬิกาจากบริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่าย ในต่างประเทศนั้น กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่าการตรวจสอบทรัพย์สินในต่างประเทศในกรณีนี้ เป็นการตรวจสอบไปยังประเทศที่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาตั้งอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบทวีปยุโรปซึ่งมีหลักการการขอความร่วมมือระหว่างประเทศที่เคร่งครัด ในการดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยผ่านอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางนั้น จึงมีประเด็นสำคัญในเรื่องหลักความผิดสองรัฐ หรือ Dual Criminality ซึ่งมีหลักการว่าฐานความผิดในการขอความร่วมมือต้องเป็นความผิดทางอาญาของประเทศผู้รับคำร้องด้วย  

ซึ่งกรณีนี้เป็นความผิดในเรื่องการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ในบางประเทศไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและไม่เป็นคดีทุจริต แต่เป็นเพียงการตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่เป็นความผิดทางอาญาในประเทศผู้รับคำร้อง ประเทศดังกล่าวจะปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้นการขอความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านอัยการสูงสุดเป็นกระบวนการตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลานานมากเป็นปีในการขอความร่วมมือดังกล่าว