ไม่พบผลการค้นหา
'วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย' ราชบัณฑิต เผยระบบเลือกตั้ง MMA ทุกประเทศออกแบบให้มี 'จุดตัดทิ้ง' กรณีพรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ป้องกันมีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก

ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต และ อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) แสดงทัศนะต่อระบบกติกาและการนับคะแนนผลการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า 

อภินิหารของการสำเนากติกาเลือกตั้งมาไม่ครบถ้วน

ในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ ต่างดีใจที่ประเทศเราจะมีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่เลวน้อยกว่าระบอบอื่นๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่จับตาของนานาประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากระบบรัฐบาลทหาร มาเป็นรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง

น่าเสียดายที่กติกาเลือกตั้งกลับพาเราสู่สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีข่าวในเชิงลบ ตั้งแต่การหาเสียง การนับคะแนน จนถึงการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งปัจจุบัน ดูเหมือน กกต. จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ในฐานะนักวิชาการผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลคนหนึ่ง ผมขอตั้งข้อสังเกตสำหรับกติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนี้

(1) ระบบการเลือกตั้งที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นระบบ Mixed Member Apportionment System (MMA) เข้าใจว่า เกิดจากประเทศเยอรมนี และปัจจุบัน มีประเทศที่ใช้อยู่ คือ เยอรมนี นิวซีแลนด์ สก๊อตแลนด์ โบลิเวีย และเลโซโธ

(2) หลักการ MMA คือ ส.ส. พึงมีในระดับประเทศ ที่ได้จากสัดส่วนของคะแนนทั้งประเทศ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาจากตัวแทนระดับเขต (สส เขต) ซึ่งเลือกโดยประชากรในเขต และส่วนที่เหลือ (ส.ส. บัญชีรายชื่อ) มาจากการจัดสรรจากคะแนนเสียงของพรรคทั่วประเทศ

(3) ในระบบ MMA ดั้งเดิม ประเทศเยอรมนีใช้บัตรใบเดียวในการเลือกทั้งผู้แทนเขตและพรรค (บังคับให้เลือกผู้แทนคนไหน ก็ต้องเลือกพรรคเขาด้วย) แต่ภายหลัง ได้เปลี่ยนเป็นใช้บัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ผู้แทนเขตและใบหนึ่งเลือกพรรค ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ MMA เท่าที่อ่านพบจะใชับัตร 2 ใบทั้งนั้น

(4) ปกติ ในระบบ MMA ที่นั่ง ส.ส. เขต (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ที่นั่ง ส.ส. พึงมี) ควรมีจำนวนน้อยกว่า ส.ส. พึงมี แต่ในประเทศที่มีพรรคเป็นจำนวนมาก ผู้ชนะ ส.ส. เขตมักชนะด้วยคะแนนไม่สูงนัก ดังนั้น คะแนนรวมทั้งประเทศจึงไม่สูงด้วยสัดส่วนเดียวกับจำนวน ส.ส. เขต ผลที่ได้ในเชิงคณิตศาสตร์ คือ จำนวน “ส.ส. บัญชีรายชื่อ = จำนวน ที่นั่ง ส.ส. พึงมี - จำนวน ส.ส. เขต” มีค่าติดลบ กรณีนี้ ก็เกิดขึ้นทั้งที่เยอรมนี และนิวซีแลนด์ เรียกกันว่า เกิด Overhang Seats

(5) ในกรณีเกิด Overhang Seats ที่เยอรมันและนิวซีแลนด์ ตามกติกา ประเทศทั้งสองยอมเพิ่มจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อตาม เรียกว่า Balance Seats เพื่อจะไม่ไปลดสัดส่วนจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคอื่นๆ ดังนั้น ถ้ากติกานี้มีในประเทศไทย จำนวน ส.ส. ทั้งหมดก็สามารถมีมากกว่า 500 ได้ตาม Overhang Seat

(6) ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบ MMA ทุกประเทศ ได้ออกแบบให้มี “จุดตัดทิ้ง (Threshold)” เพื่อป้องกันพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากมาย เช่น นิวซีแลนด์ กำหนดให้พรรคไหนที่ไม่ได้ ส.ส. เขตเลย ถ้าจะมาแบ่งส.ส. บัญชีรายชื่อ จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ที่เยอรมนี ก็ใช้ร้อยละ 5 โบลิเวียร์ ใช้ร้อยละ 3 (ไม่พบประเทศใดที่ไม่มีการกำหนด Threshold เหมือนกติกาเรา ซึ่งทำให้พรรคที่ตกน้ำฟื้นขึ้นมาใหม่ถึง 13 พรรค)

(7) มี 2 ปรากฏการณ์ ที่คนส่วนใหญ่ยังสับสน ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร และมักเอามารวมปนกัน

(7.1) ทำไมมี 13 พรรค ที่คะแนนดิบต่ำกว่า Quota (คะแนน 71,065 ต่อ 1 สส พึงมี) จึงสามารถฟื้นกลับมาได้ 1 ส.ส. ถ้าดูจากตารางที่ผมจำลองสำหรับประเทศสารขัน การเกลี่ยเศษเพื่อแปลงเลขทศนิยมให้เป็นเลขเต็มโดยวิธี Largest Remainder Method หรือ มาตรา 128(4) คือ สาเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์นี้ วิธีแก้ไขในอนาคต คือ การกำหนดให้มี Threshold เหมือนประเทศที่ใช้ MMA อื่นๆ (แปลกใจว่า ผู้ออกแบบ กติกาเลือกตั้งของประเทศไทย ลืมประเด็นนี้ไปได้อย่างไร)

(7.2) ทำไมพรรคที่เคยได้ ส.ส. พึงมี จำนวนหนึ่ง แต่สุดท้าย จำนวน ส.ส. ที่ได้กลับหายไป (เช่น พรรค อคม. จาก 88.17 เหลือ 80) สาเหตุที่แท้จริง คือ การปรับ Overhang Seats จำนวน 25.47 ที่นั่ง (ซึ่งเกินจาก 150 ที่นั่ง) ดังนั้น พรรคไหนได้จำนวน ส.ส รายชื่อจำนวนมากกว่า ก็จะถูกปรับลดมามากตามสัดส่วน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :