คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร พร้อมด้วย สมศักดิ์ ชื่นจิตร ผู้เป็นบิดา เดินทางเข้าฟ้องร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเรียกหาย พ.ร.บ.ความละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นจำนวนเงิน 20,800,000 บาท กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ให้รับผิดชอบและชดใช้ค่าเสียหาย
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552 ที่ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายทรมานร่างกาย เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีวิ่งราวทรัพย์หญิงคนหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งนายฤทธิรงค์ไม่ได้เป็นผู้กระทำ
ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้พิจารณาและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาที่ฤทธิรงค์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมาน
ต่อมา คดีอาญาดังกล่าวมีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2562 และคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลตัดสินลงโทษตำรวจที่ซ้อมทรมานฤทธิรงค์ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงนำคดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ศาลจำเป็นต้องเลื่อนนัดพร้อมออกไปก่อน
ด้านสมศักดิ์ บิดาของฤทธิรงค์ กล่าวว่า กว่า 12 ปี ที่ฤทธิรงค์กับตน ต้องขึ้นศาล พร้อมกับทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นที่ทราบกันว่า ศาลเป็นสถานที่ที่ใครก็ไม่อยากมา เพราะนอกจากจะเสียเวลา เสียเงิน และยังต้องเสียแรงกำลังเป็นจำนวนมาก ภาพของกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนว่า ถ้ามาตรการใดทำแล้วมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดไปโดนคนบริสุทธิ์ มันส่งผลร้ายกับคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต
อ่านรายงานพิเศษ : 12 ปีบาดแผลแพะรับบาป:เมื่อผมถูกทรมาน…ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม