ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. แนะผู้ประกอบการนำเข้าแบตเตอรี่สำรอง (เพาเวอร์แบงก์) เร่งนำสินค้ามาตรวจสอบมาตรฐานที่ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ หรือ PTEC ของ สวทช. เพื่อยื่นขอเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 1 ธ.ค.นี้ มิฉะนั้นจะมีความผิดทางอาญา

จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์เพาเวอร์แบงก์ระเบิดในขณะจอดรถไว้กลางแดดร้อนจัด รวมถึงการชาร์จไฟทิ้งไว้จนเกิดไฟลุกไหม้เสียหายขึ้นบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ประกาศให้มาตรฐานเพาเวอร์แบงก์ เป็นมาตรฐานบังคับ คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ มอก.เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้เพาเวอร์แบงก์ในท้องตลาดทุกยี่ห้อ ต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรองตามที่มาตรฐานกำหนด หากละเมิดผู้นำเข้าจะมีความผิดทางอาญา นั้น

เกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า สวทช.เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่พร้อมสนับสนุนการตรวจสอบมาตรฐานของเพาเวอร์แบงก์ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัย โดย สวทช.มีศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงอยากจะแนะนำให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าเพาเวอร์แบงก์ ให้รีบนำสินค้าไปทดสอบมาตรฐานที่ PTEC เนื่องจากมีเวลาอีก ไม่มากนักก่อนที่จะถึงกำหนดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ โดยผู้ประกอบสามารถนำผลิตภัณฑ์เพาเวอร์แบงก์ที่ผลิตและนำเข้ามาทดสอบมาตรฐาน และนำผลรายงานการทดสอบไปยื่นต่อ สมอ. เพื่อขอ มอก. สำหรับผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อไป

S__55132207.jpg

ด้าน ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. กล่าวถึงมาตรฐานการตรวจสอบเพาเวอร์แบงก์ของ PTEC ว่า PTEC เป็นศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ที่ทันสมัยสามารถตรวจสอบมาตรฐานได้ถึงระดับเซลล์ ระดับโมดูล และ ระดับแพ็ค ที่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 2217 หรือ IEC62133 และยังเป็นศูนย์ทดสอบแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำอุปกรณ์เข้ามาให้ทดสอบแบตเตอรี่ พร้อมรองรับมาตรการควบคุมได้ทันภายในวันที่ 1 ธ.ค.นี้อีกด้วย

นอกจากนี้ ดร.ไกรสร ยังได้แนะนำผู้บริโภคถึงวิธีการสังเกตความผิดปกติของแบตเตอรี่ โดยให้สังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอก หากมีการบวมแตกหรือบิ่น ถือว่าไม่ปลอดภัย ควรนำไปตรวจสอบก่อนใช้งานต่อ และผู้บริโภคไม่ควรเลือกใช้แบตเตอรี่ที่มีราคาถูกเกินจริง ที่สำคัญให้ตรวจสอบว่าสินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคเอง

S__55132191.jpg

สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-7000 (ในวันและเวลาราชการ) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

S__55132195.jpg