ไม่พบผลการค้นหา
ศึกศักดิ์ศรีที่มากกว่าแค่กีฬา เมื่อ 'ทีมชาติจีน' เผชิญแรงกดดัน หากพ่าย 'เหรียญทอง' กับการถูกชาวจีนชาตินิยม ตราหน้าว่า "ไม่รักชาติ"

มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 นอกจากเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันความสามารถทางด้านกีฬาของบรรดานักกีฬาแต่ละชาติหรือแต่ละประเภทกีฬาแล้ว การแข่งขันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเวทีที่บางชาติใช้เป็นเวทีแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่และอิทธิพลด้านกีฬาต่อสายตาชาวโลก 

สำหรับนักกีฬาทีมชาติจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากต้องเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันแล้ว นักกีฬาทีมชาติจีนยังต้องเผชิญแรงกดดันจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวจีนที่มีแนวคิดชาตินิยมบนโลกออนไลน์ซึ่งบางส่วนมองความพ่ายแพ้ที่เมื่อนักกีฬาจีนพลาด "เหรียญทอง" จะถูกมองว่านักกีฬาเหล่านั้น "ไม่รักชาติ" 

ยกตัวอย่างกรณีเช่นแมชต์การแข่งขันแบตมินตันชายคู่ระหว่าง ลี หยาง และ หวัง จื่อ หลิน จากทีมชาติไต้หวัน ซึ่งสามารถเอาชนะ หลี่ จุนฮุย และ หลิว ยู่เฉิน คู่นักแบตมินตันชายจากทีมชาติจีนได้ ส่งผลให้นักกีฬาตัวแทนจากไต้หวันคว้าเหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้ได้เป็นครั้งแรกให้กับชาติบ้านเกิด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนแผ่นดินใหญ่มานาน ชาวไต้หวันและชาวจีนหลายคนจึงมองว่าการแข่งขันนี้ไม่เพียงแค่เกมการแข่งกีฬาในสนามเท่านั้น แต่ยังไม่ต่างกับ "ศึกศักดิ์ศรี" ของสองชาติด้วย

จีน โอลิมปิก โตเกียว

นับตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกเกม 2008 ณ กรุงปักกิ่ง ที่จีนเป็นเจ้าภาพ "ทีมชาติจีน" มักสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันกีฬาจากหลากหลายประเภท จีนเป็นหนึ่งชาติ "เจ้าเหรียญทอง" ที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมากครองได้มากที่สุดอันดับต้นของโลก

นอกจากกรณีแมชต์การแข่งแบตมินตันชายคู่แล้ว อีกหนึ่งชนิดกีฬาที่ไม่จบในสนามคือการแข่งขันของทีมปิงปองผสมคู่ระหว่างทีมชาติจีน กับทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งทีมจีนพ่ายเหรียญทองให้กับทีมญี่ปุ่นจากการแข่งขันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จน หลิว ซือเหวิน นักปิงปองทีมชาติจีนต้องออกมาขอโทษต่อชาวจีนที่ผิดหวังแม้เธอจะคว้าเหรียญเงินได้ก็ตาม

"ฉันรู้สึกว่า ฉันทำให้ทีมผิดหวัง ... ฉันขอโทษทุกคนด้วย" เธอกล่าวพร้อมก้มขอโทษทั้งน้ำตา 

"คนทั้งชาติตั้งตาชมการแข่งรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ ผมคิดว่าทีมชาติจีนทั้งทีมไม่อาจยอมรับผลการพ่ายแพ้นี้ได้" สวี่ ซิน ผู้ที่ลงแข่งคู่กับเธอกล่าว

แม้จะคว้าเหรียญเงิน แต่การพ่ายแพ้ต่อทีมชาติญี่ปุ่นในกีฬาปิงปอง ซึ่งเป็นชนิดกีฬาที่จีนมักเป็นเจ้าเหรียญทอง สร้างกระแสไม่พอใจต่อผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตชาวจีนในโลกออนไลน์ เว็บไซต์เว่ยป๋อ บรรดา "เกรียนคีย์บอร์ดจีน" หลายคนโจมตีนักกีฬาทั้งสอง โดยกล่าวโทษว่าพวกเขาทำให้ทั้งชาติต้องผิดหวัง บ้างก็กล่าวหาว่า กรรมการผู้ติดสินลำเอียงเข้าข้างนักกีฬาฝั่งญี่ปุ่น 

ไดกิ ฮาชิโมโตะ นักยิมนาสติกชาวญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตกเป็นเป้าโจมตีจากบรรดาเกรียนคีย์บอร์ดจีน เมื่อเขาคว้าเหรียญทองจากบาร์เดี่ยวชายยิมนาสติกสากล เหนือคู่แข่งชาวจีน บรรดาชาวเน็ตจีนถึงกับเล็ดรอดระบบไฟล์วอลล์ เข้าแสดงความคิดเห็นอย่างไม่เหมาะสมบนทวิตเตอร์และอินสตาแกรมของนักยิมนาสติกชาวญี่ปุ่น ชาวเน็ตชาตินิยมจีนบางรายโพสต์ภาพจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่หนานจิง ไปจนถึงเหตุระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ

ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ครองอำนาจรัฐบาลปักกิ่ง เป็นที่สังเกตว่าชาวจีนกำลังมีกระแสชาตินิยมที่แผ่ไปทั่วประเทศ การแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ 4 ปีมีหนึ่งครั้ง จึงเป็นมากกกว่าแค่เหรียญรางวัลหรือความสำเร็จของนักกีฬา

ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาให้มุมมองต่อบีบีซีว่า สำหรับกลุ่มชนชาตินิยมสุดโต่ง การสูญเสียเหรียญทองโอลิมปิกนั้นไม่ต่างอะไรกับการ "ไม่รักชาติ" 

"สำหรับคนเหล่านี้ ตารางสรุปเหรียญโอลิมปิกคือสิ่งบ่งชี้ว่าจีนยอดเยี่ยมแค่ไหน และมากกว่านั้นคือศักดิ์ศรีของประเทศ" ดร.ฟลอเรียน ชไนเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียไลเดน (Leiden Asia Centre) ในเนเธอร์แลนด์ กล่าว 

"ด้วยบริบทนี้ผู้ที่ล้มเหลวในการแข่งขันกับทีมของชาวต่างชาติ ทำให้หลายคนผิดหวังหรือไม่ต่างอะไรกับการทรยศต่อประเทศชาติ”

จีน โอลิมปิก โตเกียว

การแพ้แข่งปิงปอง ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของจีนอีกทั้งที่ผ่านมาทีมชาติจีนมักเป็นเจ้าเหรียญทองในกีฬาประเภทนี้ ให้กับทีมชาติญี่ปุ่นไม่ต่างอะไรกับการฟื้นบาดแผลจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นเคยกระทำต่อชาวจีนในเหตุการณ์หนานจิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับชาวจีนหัวชาตินิยม การแข่งขันปิงปองแมชต์นี้ไม่เพียงแต่เป็นรายการกีฬาทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญชาวดัชต์มองว่า "ไม่ต่างอะไรกับการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนและญี่ปุ่น"

เช่นเดียวกับแมตช์การแข่งแบตมินตันระหว่างทีมไต้หวันกับทีมชาติจีน ผู้ใช้งานเว่ยป๋อในจีนถึงกับวิจารณ์สองนักแข่งทีมชาติจีนที่แพ้ไต้หวันว่า "ไม่พยายามเอาเสียเลย พวกคุณมันกระจอก" บางคอมเมนต์แรงถึงขั้นไล่ "ไปตายซะ"

ในทางตรงกันข้ามที่ไต้หวัน ผู้ใช้งานทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กหลายรายต่างแสดงข้อความยินดีที่นักกีฬาชายทั้งสองสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในกีฬาประเภทนี้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ความยินดียิ่งทวีเป็นสองเท่าเมื่อพบว่าเอาชนะทีมนักกีฬาจีนแผ่นดินใหญ่ได้

'ตี้ ซู' พิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวไต้หวัน และป๊อปสตาร์ 'โจลิน ไช่' เป็นสองคนดังชาวไต้หวันที่ถูกเกรียนคีย์บอร์ดจีนวิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกันเมื่อทั้งสองกล่าวชื่นชมนักกีฬาแบตมินตันทีมชาติที่เอาชนะจีนได้สำเร็จ

นอกจากการแพ้ชาติที่เป็นคู่แข่งหรือไม่เบื่อไม้เมากันมานานแล้วนั้น นักกีฬาที่แม้คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ แต่ก็มิวายตกเป็นเป้าโจมตีเนื่องจากสวมใส่อุปกรณ์กีฬาของแบรนด์ต่างชาติที่โจมตีจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนซินเจียงอูย์กูร์ ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน 'หยาง เชี่ยน' นักกีฬายิงปืนหญิง ที่แม้เธอจะคว้าเหรียญทองได้ ก็ถูกสังคมออนไลน์จีนวิจารณ์เนื่องจากเธอเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่สะสมรองเท้าแบรนด์ไนกี้ จากการที่แบรนด์ดังกล่าวแสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ฝ้ายจากซินเจียงในผลิตภัณฑ์ของตน จากเหตุเรื่องการใช้การบังคับใช้แรงงานมุสลิมอุยกูร์

"ในฐานะนักกีฬาตัวแทนทีมชาติจีน ทำไมคุณต้องสะสมรองเท้าไนกี้ คุณควรเป็นผู้นำในการต่อต้านไนกี้ไม่ใช่หรือ" ผู้ใช้งานเว่ยป๋อตั้งคำถามต่อเธอ

การแข่งขันโอลิมปิกนี้ มีขึ้นเพียงไม่นานหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวคือ "ชาวจีนจะไม่ยอมให้ต่างชาติมากลั่นแกล้งหรือรังแกจีนอีกต่อไป หากผู้ใดกระทำเช่นนั้น ศีรษะพวกเขาจะต้องถูกกระแทกจนโชกเลือดบนกำแพงเหล็กที่สร้างขึ้นจากชาวจีนพันล้านคน" 

ดร. ชไนเดอร์ มองว่า วาทะนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลปักกิ่งส่งสัญญาณว่าแนวคิดแบบชาตินิยมเป็นกรอบหนทางที่ถูกต้องในการชูบทบาทความแข็งแกร่งของจีนในเวทีโลก "เมื่อประชาชนจีนได้รับการบอกว่า ความสำเร็จของชาติเป็นสิ่งสำคัญ และนักกีฬาทีมชาติจีนต้องสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นในโตเกียวให้ได้" 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากเนเธอร์แลนด์ย้ำว่า การแสดงความคิดเห็นแบบชาตินิยมของชาวเน็ตจีน ไม่ได้สะท้อนหรือหมายความว่าเป็นความคิดเห็นของชาวจีนในส่วนใหญ่ของประเทศ 

เช่นเดียวกับผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจีนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า บรรดาชาตินิยมในออนไลน์เหล่านี้ ไม่มีเหตุผล ทั้งเรียกร้องให้สนับสนุนและให้กำลังใจทีมชาติมากกว่าการวิจารณ์แบบลบๆ 

ไม่ต่างกับนักวิเคราะห์จากสำนักข่าวซินหัวรายหนึ่ง ซึ่งเรียกร้องให้ให้ประชาชน "ใช้เหตุผล" มากขึ้น ด้วยหวังว่าผู้คนจะแสดงความเห็นที่มีเหตุผลมากขึ้นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

"ฉันหวังว่าเราทุกคนที่อยู่หน้าจอจะสร้างมุมมองที่สมเหตุสมผลของเหรียญทอง ชัยชนะและความพ่ายแพ้ รวมถึงเพลิดเพลินไปกับ ... จิตวิญญาณของโอลิมปิก” ความเห็นของสำนักข่าวซินหัวกล่าว

(ภาพประกอบข่าว AFP : หยาง หลิว นักยิมนาสติกจากจีน กับน้ำตาแห่งชัยชนะคว้าเหรียญทอง แข่งยิมนาสติกห่วงชายรอบชิงชนะเลิศ)

ที่มา: BBC1 , BBC2 , CNN , FOX Sport