ไม่พบผลการค้นหา
รมช.เกษตรและสหกรณ์ เกาะติดสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สั่งตั้งจุดตรวจเข้ม 3 จังหวัดอีสานตามแนวชายแดนสกัดโรค หวั่นระบาดเข้าไทย

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ เพื่อประชุมหารือติดตามมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(African Swine Fever หรือ ASF) โดยจุดแรกเดินทางไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษจากนั้นเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ตามลำดับเพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ นายประภัตร กล่าวว่า จากรายงานสรุปสถานการณ์โรคอหิวาต์ในสุกร ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของโรคใน 27 ประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดชายแดนประเทศไทย ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา (ยกเว้นมาเลเซีย) อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุกรของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้เฝ้าระวังติดตามอย่างเข้มงวด ซึ่งประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อม เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศจีนเริ่มเกิดการระบาดของโรคดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการการควบคุมและป้องกันโรค ASF มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ด้านการเตรียมความพร้อม จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและแนวเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

13293.jpg

นอกจากนี้ รัฐบาลยกระดับแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นวาระแห่งชาติ และมีการจัดตั้ง War Room ในส่วนกลางและภูมิภาค โดยในพื้นที่ส่วนกลางมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน และส่วนภูมิภาคมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนมาตรการซ้อมแผนรับมือโรคฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยตลอดจนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ OIE , FAO จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลการเฝ้าระวังและป้องกันโรคฯ รวมทั้งด้านมาตรการในการป้องกัน มีการประกาศระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่มีการระบาดของโรคและบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสุกรผลิตภัณฑ์สุกรเข้ามาในประเทศ สำหรับมาตรการเฝ้าระวังได้ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ X-Ray เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังทางอาการขึ้นทะเบียนและประเมินความเสี่ยงด้วยแอปพลิเคชั่น อี-สมาร์ทพลัสพร้อมให้คำแนะนำความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน  

หมู

นอกจากนี้ ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงร่วมจัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ContigencyPlan) เพื่อทำให้มาตรการต่างๆ ในการป้องกันโรคสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดทำโรงพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคที่ด่านชายแดนที่สำคัญ 5 แห่ง ร่วมสนับสนุนเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ในการพ่นยาฆ่าเชื้อให้กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันโรคร่วมสนับสนุนการจัดงานสัมมนาให้ความรู้เรื่องโรคและการป้องกันโรคให้กับเกษตรกรรายย่อยเข้มงวดในการส่งออกสุกร ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสุกรโดยรถขนส่งสุกรมีชีวิตที่ใช้ภายในประเทศห้ามไม่ให้ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคASF ซึ่งมีการเปลี่ยนถ่ายสุกรบริเวณชายแดนและให้รถขนส่งสุกรที่ใช้เฉพาะไปยังประเทศเพื่อน (ห้ามมาใช้ขนส่งสุกรภายในประเทศ) ร่วมมือกับภาครัฐรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงนำไปในราคาตลาดที่เป็นธรรมนำมาเชือดเพื่อแปรรูปปรุงสุกหรือฝังทำลาย ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้มีรายได้ป้องกันความสูญต่อเกษตรกรรายย่อย

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ในวันนี้ ก็เพื่อติดตามสถานการณ์ของโรค ASF และมาตรการป้องกันที่ต้องเข้มงวดอย่างสูง จึงได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะทำงานในการตั้งด่านตรวจป้องกันโรคโดยมีกรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการ พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่เสริมในแต่ละด่านซึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนนั้นมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันโรคดังกล่าวที่สำคัญคือความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรต่างๆที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงาน จึงทำให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่มีการเกิดโรค ASF


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :