ในการอภิปรายรายงานประจำปี 2562 ของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายรายงานดังกล่าวอย่างดุเดือดเข้มข้น ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเดียวที่ได้อภิปรายรายงานศาลรัฐธรรมนูญในวาระนี้
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้าเทียบทั้ง 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ภาพที่มีต่อสังคมนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้คะแนนต่ำสุดในแง่การได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนทั่วไป เพราะได้สร้างข้อกังขา สร้างความเคลือบแคลงใจจากผลการวินิจฉัยคดีที่ผ่านมา
อมรัตน์ กล่าวอีกว่า ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศเรามีหลักสูตรพิเศษจำนวนมาก ศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน มีหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย ถึง 8 รุ่นแล้ว ผู้เข้าอบรมรุ่นละประมาณ 52 คน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวจำนวนมาก ซึ่งแม้จะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ควรใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ ยิ่งในสภาวะวิกฤตเลวร้าย อะไรไม่ใช่หน้าที่ก็ไม่ควรทำ ไม่ควรทำเพราะเป็นแฟชั่นด้วยหลักสูตรแพงๆ ที่ใช้สร้างเครือข่ายเช่นนี้ แม้จะอ้างว่าอยู่ในแผนงาน แต่พอไปดูในรายงานแผนยุทธศาสตร์ ที่บอกให้ศาลรัฐธรรมนูญพัฒนางานเครือข่ายด้านประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ ทุกระดับ แต่การเงินใช้เงินกับคนกลุ่มเล็กๆ และเป็นผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง ทหารยศนายพล ผู้บริหารองค์กรธุรกิจแบบนี้ ถามว่าตอบสนองการให้ความรู้กับประชาชนทุกระดับ ทุกพื้นที่อย่างไร ซึ่งถ้าจะให้ความรู้ทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้ช่องทางอื่นที่ลงทุนน้อยและได้ผลกว้าง เช่น ใช้สื่อออนไลน์ เป็นต้น และในรายงานนี้ก็ไม่มีผลชี้วัดความสำเร็จหลักสูตรที่ใช้เงินมากขนาดนี้ มีแต่รายงานว่าทำอะไรบ้าง ไม่มีผลสัมฤทธิ์ ขอให้ทำมาด้วยในปีต่อไป ถ้าไม่มีความคุ้มค่าต่อเงินที่จ่ายไปก็ควรตัดทิ้ง
ด้าน คารม พลพรกลาง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประเทศ เพราะคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร ทั้งนี้ กรณีตุลาการท่านหนึ่งที่บอกว่าต้องให้ถนนลูกรังหมดไปก่อนถึงจะมีรถไฟความเร็วสูง ถามว่าตัวตุลาการก้าวล่วงนโยบายรัฐบาลได้แค่ไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ศาลวินิจฉัยเกินขอบเขตเกินอำนาจตัวเองเยอะ ดังนั้น งบประมาณที่เพิ่ม ตนอยากแนะนำให้เอาไปใช้ประชาสัมพันธ์ด้วยการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้รับมอบหมาย ท่านลองวิเคราะห์แล้วมาแจกให้ประชาชนทราบว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อบ้านเมืองนี้มากถึงมากที่สุด แจกไปทั่วประเทศ ตามโรงเรียนต่างๆ แล้วจะบอกว่าคำวินิจฉัยท่านผูกพันทุกองค์กรประชาชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อคำวินิจฉัยที่ผ่านมา
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นับแต่ คสช.ยึดอำนาจ มีการแต่งตั้งและต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นสิ่งคลางแคลงใจประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เพราะองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดกลับมาจากองค์กรที่จากยึดอำนาจ ยิ่งมามีคำวินิจฉัยผลเลือกตั้งที่ให้ กกต.คำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากสูตรที่เกิดขึ้นได้ ถามว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการบิดเบือนเจตจำนงประชาชนจากการวินิจฉัยของศาลหรือไม่ รวมถึงหลักที่ว่าการพิจารณาคดีต้องโดยเปิดเผยและให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐาน แต่ความเป็นจริง ถ
ามว่าคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ได้ให้โอกาสในการแสดงหลักฐานหรือไม่ หรือตัดพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยเลย คดียุบพรรคอนาคตใหม่มีการให้แสดงหลักฐานสู้คดีอย่างเต็มที่หรือไม่ มีการเปิดเผยหรือไม่ พบว่าไม่มี เป็นการตัดพยานแล้วยุบพรรคอนาคตใหม่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดม็อบนักศึกษาก่อนช่วงโควิด-19 และตอนนี้กลับมาอีกครั้ง เพราะนักศึกษา เยาวชนเห็นความไม่ชอบธรรม จุดเริ่มต้นนั้นมาจากศาลรัฐธรรมนูญแห่งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเกิดมีวิกฤต มีการปราบปรามฆ่ากันตาย นี่คือต้นเหตุจากความอยุติธรรมซึ่งเกิดจากศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ขอให้ช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ขององค์กรให้มีจุดยืน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย
ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นาทีนี้สิ่งที่เขียนไว้ในรายงานที่ดีมากคือ มีสถาบันแห่งหนึ่งที่ชื่อว่าสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา แต่สิ่งที่อยากทราบคือว่า สถาบันนี้ได้มีการศึกษาวิจัยรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้วบ้างหรือยังว่ามีมาตราหรือหมวดใดที่ต้องแก้ จะต้องแก้ในแบบไหน อย่างไร ในเมื่อตอนนี้เสียงประชาชนทั้งประเทศกำลังบอกว่ารัฐธรรมนูญต้องถูกทบทวนแก้ไข ชี้ได้หรือไม่ว่ามีงานวิจัยชิ้นไหนที่บ่งบอกแล้วหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะต้องแก้ และประการต่อมา งบประมาณที่นำมาศึกษาในแต่ละปี หลายหน่วยงานนั้นขอเพิ่มขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้จัดสรรงบประมาณมากขึ้น แต่งบบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญทำไมถึงมากขึ้น ท่านต้องชี้ให้เห็นว่าจะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบภายในที่เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษใดๆ ให้กับการพิจารณาคดีของท่านอีก และสุดท้ายวันนี้ไม่ว่าท่านจะยอมรับหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ถ้าท่านยอมรับในสภาแห่งนี้จะขอบพระคุณมาก ท่านต้องยอมรับว่าคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในวันนี้