ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. ชี้แจง พ.ร.บ. ข้าว ชาวนาเก็บ-แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ได้อิสระ ยกเว้นการทำธุรกิจแบบค้ากำไร ชี้ฝ่ายเสียผลประโยชน์ดึงกลุ่มชาวนามาฆ่ากันเอง ด้านนายกฯ ยืนยันรัฐบาลมุ่งดูแลประชาชน

พลเอกมารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า การประชุม สนช. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ จะมีวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ. ข้าว ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำและเสนอ เพื่อให้ สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป 

โดยพลเอกมารุต เชื่อว่า มีกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จาก พ.ร.บ. ข้าว กำลังเบี่ยงประเด็นที่เป็นเท็จ นำร่าง พ.ร.บ. ที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือยุติมาโจมตี โดยใช้ชาวนามาฆ่ากันเอง ซึ่งบทลงโทษที่มีการสื่อออกไปในประเด็นการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง หรือ พัฒนาโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกจำคุก 1 ปี หรือ ปรับ 1 แสน ขอเรียนว่าเจตนาเดิมจะมีบทลงโทษเฉพาะผู้ประกอบการ พ่อค้า แต่เมื่อได้รับฟังข้อทวงติงและได้พิจารณาแล้ว เพื่อไม่ให้สับสนโยงชาวนา จึงได้ตัดมาตรา 32/2 ซึ่งเป็นบทลงโทษในมาตรา 27/1 ออกไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีบทลงโทษตามมาตรา 27/1 อนุ 1, 2, 3 และยืนยันว่าหากชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เว้นแต่ชาวนาจะไปทำในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไร ต้องขอรับรองพันธุ์ข้าวก่อน

ส่วนประเด็นที่ พ.ร.บ. กำหนดให้กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์ข้าว เหมือนเป็นการบังคับชาวนาให้มาใช้พันธุ์ข้าวจากกรมเท่านั้น พลเอกมารุต ยืนยันว่า ไม่ได้บังคับ เคยปฏิบัติอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น เพียงแค่นำเรื่องข้าวมาให้กรมการข้าวดูแลให้มีมมาตรฐาน ส่วนการกำหนดโทษก็ใช้ตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืชที่มีอยู่

โดยวันนี้ (18 ก.พ. 2562) มีตัวแทนชาวนาทั้ง 4 ภาคกว่า 100 คน เดินทางเข้ามาที่สภาเพื่อร่วมเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมมาธิการวิสามัญฯ ในประเด็น พ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้ นายวีระ รุ่งเรือง ประธานเครือข่าวชาวนาไทย กล่าวว่า ชาวนาต้องการให้เร่งผลักดัน พ.ร.บ. ข้าว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร สร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าว ซึ่งในประเด็นการการรับรองพันธุ์ข้าวปัจจุบันก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว ตามกฎหมายพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่ผ่านมารัฐมีการจัดตั้งองค์กรชาวนา หรือ ศูนย์ข้าวชุมชนในแต่ละอำเภอทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้กันเองในเครือข่าย มองว่า พ.ร.บ. ข้าวไมได้ห้าม หรือ จำกัดชาวนาให้เสียผลประโยชน์

ประยุทธ์ จันทร์โอชา.JPG

นายกรัฐมนตรี แจงเอกสาร พ.ร.บ.ข้าว เป็นของเก่า ยันดูแลเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันร่างพระราชบัญญัติข้าว รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่ สนช. ได้เสนอขึ้นมา ประกอบกับเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณภาครัฐ จึงให้รัฐบาลเข้าไปมีส่วนในการพิจารณาด้วย ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาและส่งกลับไปแล้ว โดยขอให้แก้ไขในประเด็นที่มีปัญหา แต่เอกสารที่มีการนำมาเผยแพร่เป็นฉบับที่ยังไม่ได้มีการแก้ไข ทำให้สร้างความเกลียดชังกันไปทั่ว ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลและ สนช. ต้องการดูแลเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลใด และได้เขียนไว้แล้วว่าไม่ได้มีผลกระทบกับเกษตรกรทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องไปดูที่มาในภาคเอกชน ในการขออนุญาตของบริษัทต่างๆ ก็ต้องมีกติกาของบริษัทนั้นอยู่แล้ว 

ทั้งนี้ พันธุ์ข้าวในประเทศไทยมี 2 หมื่นกว่าพันธุ์ ผสมกันไปมา จะนำมาขึ้นทะเบียนทั้ง 2 หมื่นพันธุ์ไม่ได้ แต่ก็มีการทยอยขึ้นทะเบียนไป 100 กว่าพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นพันธ์ุข้าวหลักและที่เหลือก็มีการทยอยขึ้นทะเบียนตามลำดับ

ดังนั้น ขอให้เข้าใจตรงนี้ก่อน ไม่งั้นก็ตีกันเละเทะไปหมด รัฐบาลตั้งใจดูแลเกษตรกร แต่ก็เป็นเรื่องของกติกา หากมากน้อยเกินไป ก็ต้องพิจารณากันใน สนช. และเชื่อว่า สนช. ไม่ได้มุ่งหวังเอาเป็นเอาตายกับใครทั้งสิ้น วัตถุประสงค์คือต้องการดูแลพี่น้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ