ไม่พบผลการค้นหา
เหมือนจะมีเงื่อนไขใหม่ จาก ส.ว.สร้างเกมยื้อ-ล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้าง หวั่น กระทบ 38 มาตรา เกี่ยวกับพระราชอำนาจ

แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในวาระที่สอง จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงกระนั้น หลังจากนี้ยังมีปัญหาและอุสรรคที่อาจทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปไม่รอดอยู่อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก กรณีที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” นำ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จับมือ ส.ว.โหวตเป็นมติเสียงข้างมาก เห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สามารถตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่สามารถทำได้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ แก้ไขเป็นรายมาตรา

ประการที่สอง คือด่านของ ส.ว. เพราะการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องใช้เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน เพื่อโหวตผ่านร่างในวาระ 1 และ 3 โดยวาระ 1 และ 2 ผ่านไปแล้ว เหลือเพียงวาระ 3

สมชาย สมาชิกวุฒิสภา รัฐสภา

ทั้งนี้ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ที่ผ่านมา มีข้อเสมอใหม่จาก ส.ว. ให้เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร. จากเดิมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256/13 วรรค 5 บัญญัติว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้

ซึ่ง ส.ว.เห็นว่า ข้อความเพียงเท่านั้น ยังไม่พอต่อการปกป้องสถาบัน เพราะหมวด 1 เป็นแต่เพียงเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับรูปแบบของรัฐ ขณะที่หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังมีอีกกว่า 38 มาตรา ที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องคงไว้เช่นเดียวกับหมวด 1 และ หมวด 2

จึงเสนอว่า นอกจากหมวด 1 และ หมวด 2 แล้ว ส.ส.ร.ยังไม่ควรยุ่งกับ 38 มาตราดังกล่าวด้วย

สำหรับ 38 มาตราว่าด้วยพระราชอำนาจ ที่ ส.ว. หมายถึง เช่น หมวด 8 ว่าด้วย “คณะรัฐมนตรี

มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

กรรมาธิการ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา 64_210224.jpg

มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา 171 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคําแนะนํา

มาตรา 172 ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

มาตรา 175 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา 176 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 177 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภามติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

มาตรา 178 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการทําหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

มาตรา 179 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา 180 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตําแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตําแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ

โดย ส.ว. เห็นว่า พระราชอำนาจเหล่านี้ ควรจะมีบทบัญญัติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ส.ส.ร.จะปรับเปลี่ยนแก้ไขมิได้

ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภา รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  3dc59e85cdab8ffef1afe.jpeg

สมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาว่า 38 มาตราดังกล่าว มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นความมั่นคงของชาติ ถ้าจะบอกว่า ไว้วางใจ ส.ส.ร. ก็ไม่ต้องห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ก็ได้

“ผมเชื่อว่า ส.ว.ทั้งหมด อยากเห็นการเติมข้อความ เหตุผลเพราะหมวด 1 หมวด 2 ไม่เพียงพอ ผมไม่สบายใจ กลัวว่ามาตราเหล่านี้จะหายไป เพราะมีคนพูดในสภาหลายครั้ง เกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งผมปล่อยไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้ เพราะหากปล่อยไป 38 มาตรา กระเทือนแน่ นี่ไม่ต้องพูดถึงการพูดกันในโลกโซเชียลที่มีการเหยียดหยามสถาบัน ว่าจะให้มีหมวดโน้นหมวดนี้ จะลดทอนพระราชอำนาจต่างๆ เราทราบดีว่าเกิดเหตุการบ้านเมืองอย่างนี้”

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า เราไม่ไว้ใจ ที่จะให้อำนาจ ส.ส.ร.เขียนรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง เมื่อสภาให้อำนาจ ส.ส.ร.ไปเขียนรัฐธรรมนูญ ย่อมมีอำนาจกำหนดขอบเขตการจัดทำรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. ได้เช่นกัน

สัญญาณขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้าง 38 มาตรา บ่งชี้ให้เห็นในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อ ส.ว.ยืนยัน จะขอเพิ่มข้อความในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256/13 วรรค 5

เสรี สมาชิกวุฒิสภา ประชุมสภา_201117.jpg

กระทั่งสถานการณ์ตึงเครียด ประธานวิปรัฐบาล วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ เสนอพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที ก่อนจะกลับมาลงมติ เห็นด้วยให้มีการแก้ไขตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก 349 ต่อ 200 งดออกเสียง 28 แต่ไม่มีการเพิ่มข้อความตามที่ ส.ว.ร้องขอ

จึงต้องจับตาการลงมติในวาระ 3 ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจะผ่านที่ประชุมรัสภาไปได้ และ 38 มาตรา อาจเป็นข้ออ้างหนึ่งที่ ส.ว.จะหยิบมาเล่นเกมในกระดานเพื่อล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านต้องการจะจัดทำใหม่ทั้งฉบับผ่าน ส.ส.ร.

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง