ข่าวคนร้ายบุกเดี่ยวปล้นร้านทองภายในห้างดังจังหวัดลพบุรี พร้อมใช้อาวุธปืนยิงไปยังประชาชนบริสุทธิ์เสียชีวิต 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีเด็กชายอายุเพียง 2 ขวบ เป็นเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ติดตามข่าวเป็นอย่างมาก และช่วงระหว่างการรายงานข่าวของสื่อหลายแห่งทั้งในโลกออนไลน์ และโทรทัศน์ ได้นำคลิปภาพเหตุการณ์มาเผยแพร่ โดยเฉพาะวินาทีที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่ประชาชน
จากการเผยแพร่และส่งต่อคลิปกันอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ ได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำภาพเหตุการณ์มาส่งต่อ เพราะนอกจากจะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ชมแล้ว ยังไปตอกย้ำความสูญเสียกับญาติของผู้เสียชีวิต และพวกเขาออกมาเรียกร้องให้สื่อ และผู้ใช้โซเชียลงดเผยแพร่ หรือ ส่งต่อคลิปภาพเหล่านี้
ขณะที่ผ่านมา 5 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าวและวิทยุโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้เคยออกแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าว และภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว เมื่อเดือน มี.ค. 2559 โดยมีข้อตกลงระะบุว่า
"หมวด 1 ปฏิบัติงานข่าว ข้อที่ 2 การทำข่าวอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรรม ภัยพิบัติ วินาศกรรม การก่อการร้ายหรือเหตุรุนแรง ผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพผู้บาดเจ็บที่มีลักษณะอุจาดและสร้างความรู้สึกสยดสยอง และผู้ปฏิบัติงานข่าวพึงงดเว้นการถ่ายภาพผู้เสียชีวิต หากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ พึงระมัดระวังภาพผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต
"และหมวด 2 องค์กรสื่อมวลชน ข้อที่ 8 สื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าวผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ วินาศกรรม และสถานการณ์รุนแรงอื่นๆ ที่มีลักษณะอุจาดสยดสยองหรือน่าเวทนา และข้อที่ 9 สื่อมวลชนต้องไม่นำเสนอภาพข่าวศพของผู้เสียชีวิต ในกรณีที่จำเป็นต้องให้ความร่วมมือแก่ทางราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะ สามารถนำเสนอได้โดยต้องหลีกเลี่ยงภาพในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกต่อญาติของผู้เสียชีวิต (ที่มา : แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว)
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตคณะกรรมการ กสทช. ทวีตข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวในกรณีนี้ด้วยว่า "สื่อมวลชน สื่อออนไลน์ รวมถึงเราทุกคน ควรระมัดระวังการเผยแพร่ภาพข่าวรุนแรงจากเหตุการณ์ปล้นร้านทอง แม้เราจะมีความรู้สึกร่วม เสียใจ แต่การผลิตซ้่ำความรุนแรงกระทบสังคม ละเมิดผู้ตกเป็นข่าวโดยเฉพาะเด็ก มีหลักการกฎหมายและจริยธรรมกำกับอยู่ ฝาก กสทช. และองค์กรวิชาชีพด้วย"
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอและการส่งต่อเนื้อหาเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.ลพบุรี ในช่วงคืนวานนี้ (9 ม.ค.) ว่า กรมสุขภาพจิตได้ติดตามการนำเสนอข่าวทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลต่างๆ อย่างใกล้ชิด พบว่าเหตุการณ์นี้เกิดการแชร์เนื้อหาทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว กระจายไปทางสื่อโซเชียลต่างๆ มากมาย โดยเนื้อหาจำนวนมากประกอบไปด้วยภาพความรุนแรงและภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
กรมสุขภาพจิตเข้าใจถึงความรู้สึกของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เหตุความรุนแรงในลักษณะนี้มักก่อให้เกิดความโกรธแค้น ความโศกเศร้า ความกลัว และความวิตกกังวล ต่อประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่ได้รับข่าวสาร แต่การนำเสนอหรือส่งต่อภาพความรุนแรงที่เกินความจำเป็นนั้นไม่มีประโยชน์ใดต่อสังคมโดยรวม ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อสังคมได้ในวงกว้าง
โดยอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน คนที่กำลังเครียดหรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเห็นภาพที่มีความรุนแรงซ้ำๆ เด็กและเยาวชนที่ยังไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือขาดผู้ปกครองอธิบายในขณะที่รับชมภาพความรุนแรง อาจเกิดผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจ เกิดความชินชาต่อความรุนแรง และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงตามมาได้
นอกจากนี้ การนำเสนอหรือส่งต่อภาพผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อญาติและคนรอบข้างของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เป็นอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :