"วันนี้ถ้าผมเป็นายกฯ จะรีบเปิดเรื่องท่องเที่ยว เพราะมัน quick win ถ้าไม่เปิดตรงนี้ เศรษฐกิจจะมองไม่เห็นแสงสว่าง" โทนี่กล่าว
เขายืนยันว่า โอไมครอนเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงแต่แพร่ไว อาการที่เกิดกับคนสุขภาพแข็งแรงใกล้เคียงกับไข้หวัดธรรมดา อัตราตายต่ำ รัฐบาลจึงไม่ควรตกใจกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มเร็วแล้วปิดเศรษฐกิจอีก
“หลายประเทศตกใจโอไมคอรนจึงปิดประเทศ ซึ่งไม่คุ้มเลย โอไมครอนมาอย่างนี้ อยากให้ประเทศไทยถือโอกาสปรับเข้าสู่ new normal ได้แล้ว เตรียมเข้าสู่ความปกติใหม่ วันนี้ถ้านายกฯ ไม่รีบปรับเศรษฐกิจท่านพัง วันนี้ต้องอาศัยนักท่องเที่ยว อย่าลักปิดลักเปิด เปิดประเทศปกติ ให้คนใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง แล้วเตรียมวัคซีน mRNA โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สุขภาพเปราะบางต้องรีบบูสท์ และสั่งยามาเตรียมให้เพียงพอ ไปห่วงตรงนี้ดีกว่า”
“ภายใน 3 เดือนนี้จะเห็นการยูเทิร์นของหลายประเทศที่อาจขี้กลัวหรือตัดสินใจไม่ดี พากันกลับไปใช้มาตรการ new normal ดังนั้น หลังจากครึ่งปีแรก สถานการณ์น่าจะเป็นการอยู่กับโควิดอย่างปกติ ไม่อันตราย แต่คนที่เปราะบางจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ฉีดวัคซีน mRNA และระมัดระวังตัวมากกว่าคนอื่น”
โทนี่กล่าวถึงสิ่งที่เราสูญเสียระหว่างโรคระบาด ทุกวันนี้เครื่องยนต์สร้างเศรษฐกิจเราดับไปหลายตัว เครื่องยนต์ท่องเที่ยวดับ เครื่องยนต์การลงทุนจากต่างประเทศดับ เครื่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศก็ดับ แล้วยังถูก disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กพังเป็นแถว วันนี้ต้องรีบฟื้นพวกนี้ให้หมด ตามเทคโนโลยีฝรั่งให้ทัน ส่งเสริม creative economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยถนัด ทำให้ท่องเที่ยวกลับคืนเร็วที่สุด และยังต้องฝึกทักษะให้กับคน ทุกวันนี้คนที่ลำบากคือ bule collar worker คนทำงานที่มีเหงื่อออกจะถูกแทนที่ด้วย robot ภายในปี 2030
คำว่า capitalism economy นั้น คนที่เข้าถึงแหล่งทุนได้มากเท่าไรก็ได้เปรียบเท่านั้น คนที่มีเงินเขาหาแหล่งทุนได้ทุกรูปแบบ เศรษฐีหลายคนเวลาเพิ่มทุนไปกู้เงินตามแบงก์ต่างๆ หลายแบงก์จนเต็มวงเงิน เพราะเครดิตเขาดี ก็เพิ่มทุนได้และได้ปันผลมาจ่ายดอกเบี้ยซึ่งถูกกว่า ส่วนคนที่หาแหล่งทุนไม่ได้ แม้แต่จะหาของไปจำนำเอาลูกเข้าโรงเรียนยังหาไม่ได้ เวลาเป็นนายกฯ จึงพยายามคิดว่าจะหาหน้าต่างตรงไหนให้คนทุกระดับเข้าหาแหล่งทุนได้ เพราะถ้าหาแหล่งทุนไม่ได้ก็สร้างงานไม่ได้ สร้างธุรกิจไม่ได้ การมองเศรษฐกิจจึงต้องมองละเอียด
ส่วนคำถามที่ว่า เศรษฐกิจจากนี้ไปจะเจอวิกฤตอีกหรือไม่นั้น โทนี่กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้เราต่ำกว่าเป้า งบประมาณขาดดุลไปแล้วก็จะขาดดุลต่อไป การที่งบประมาณลดจำนวนทำให้ขาดเงินลงทุนไปด้วย รัฐบาลต้องหารายได้โดยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ แต่วันนี้เรากระตุ้นไม่เป็น ภูมิใจแต่กับนโยบายแจกอย่างโครงการคนละครึ่ง ต้องสร้าง GDP เพื่อให้หนี้ต่อจีดีพีลดลงให้เหลือ 50% จากขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 70% ถ้าลดไม่ได้การบริหารประเทศจะเหนื่อยไปอีกนาน รัฐบาลจึงต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งแนวทางการทำมาหากินของประชาชน และบริษัทบิ๊กเทคทั้งหลายที่เข้ามาดูดเงินจากเราเยอะจะทำอย่าไงร ส่วนการรวมกลุ่มภูมิภาคก็ต้องมียุทธศาสตร์ว่าอันไหนเราจะได้ประโยชน์
"นายกฯ ต้องลงรายละเอียด ต้องมีสมาธิที่จะฟังคน แล้วก็ต้องใจเย็นๆ อย่าดุเขา ดุมากคนไม่กล้าพูดความจริงก็จะบริหารแบบคนตาบอด"
ถามว่าจะถึงขั้นล้มเหมือน 2540 ไหม ขณะนี้เรามีเงินทุนสำรองค่อนข้างเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พัง มันอาจไม่พังตรงเงินไหลออก เพราะไหลออกไปเยอะแล้ว แต่จะพังที่รายได้เราไม่พอกับรายจ่าย แล้วในที่สุดความน่าเชื่อถือประเทศจะตก ค่าเงินจะตก และขาดดุลงบประมาณ ถ้าเมื่อไรดุลบัญชีเงินสะพัดขาดดุลอีกอย่างจะอันตราย อย่าให้เกิดเด็ดขาด
“เงินเฟ้อเกิดแน่ และมันจะเกิดจากสินค้าราคาแพง น้ำมันราคาแพง ซึ่งอันตราย และยิ่งปล่อยสินค้าขึ้นราคาแบบนี้ ยิ่งเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ ปกติรัฐมนตรีพาณิชย์จะทำหน้าที่คุมเงินเฟ้อโดยตรงร่วมกับ ธปท.และสภาพัฒน์ และพอเงินเฟ้อหนักมันต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นของคู่กัน เจอแน่ปีนี้ จะเป็นปัญหานี้ทั่วโลก แต่ของเราจะหนักว่าเพราะฐานเราเปาะแปะ ฐานคนอื่นเขาแข็ง”
มีคำถามว่าจะให้กำลังใจคนไทยยังไง โทนี่กล่าวว่า
"ขอให้ความอดทนที่ผ่านมาในหนึ่งปี เป็นจุดเข้มแข็งให้ท่านต่อไปอีกนิดหนึ่ง อีกครึ่งปี แล้วผมว่าครึ่งปีหลังท่านต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าเศรษฐกิจฟื้นท่าจะมีโอกาสได้ประโยชน์จากการฟื้นของเศรษฐกิจ และอยากอวยพรอีกอันหนึ่ง...ขอให้ได้ผมกลับบ้าน เอาไปใช้งาน" โทนี่กล่าวและว่าหากได้กลับบ้านต้องการทำไม่กี่อย่าง คือ 1.เลี้ยงหลาน 2.ใครเป็นรัฐบาลก็ตาม ถ้าอยากให้ช่วยคิด ช่วยวิเคราะห์ปัญหายินดีช่วยโดยไม่คิดเงิน 3. รับจ้างบรรยาย 4.ชวนบรรดาเศรษฐีในเมืองไทยมาลงขันส่งเสริมทำสตาร์ทอัพของคนรุ่นใหม่ 5.ทำแอพช่วยชาวบ้าน เช่น แมตชิ่งคนสมัครงานกับงาน แอพแท็กซี่ แอพโฮมสเตย์ เพื่อให้คนจนได้มีแพลตฟอร์ม 6.ส่งเสริมพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง เพราะปัจจุบันเป๋ไปมาก
"แล้วไม่ต้องห่วง ใครที่ด่าผมไว้เยอะแยะ ไม่ต้องกลัว ผมไม่ทำอะไร ผมไม่ด่ากลับ จะกลับไปอย่างสันติ จะเปลี่ยนชื่อเป็นสันติก็ยังไงอยู่ เป็นโทนี่ไปแล้ว ให้รู้ว่าผมกลับไปไม่เป็นปัญหาต่อประเทศไทยแน่ แต่จะเป็นประโยชน์กับคนไทยและประเทศไทย...ไปช่วงไหนเมื่อไหร่ ผมจะกระซิบน้องอิ๊งคนเดียว"
ถอดบทเรียนบริหารวิกฤต (สึนามิ) กระจายอำนาจ-รวมความร่วมมือ
โทนี่เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ว่า เมื่อทราบข่าวได้ลงพื้นที่ในวันนั้นเลยพร้อมรัฐมนตรี ประชุมแบ่งภารกิจกันเดี๋ยวนั้น และประกาศก่อนว่า นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บเล็กน้อย หากต้องการเข้า กทม.ให้เครื่องบินกองทัพอากาศรับกลับทันที หาที่พักให้ หากไม่มีพาสปอร์ตก็ให้สถานทูตทำ Citizen Identification แล้วขึ้นเครื่องบินกลับบ้านได้เลย รัฐบาลออกค่าใช้จ่ายให้หมด ส่วนคนที่บาดเจ็บ ป่วย ก็รักษาฟรีทั้งหมด ส่วนผู้เสียชีวิตหากระบุตัวตนได้ก็จะส่งกลับบ้านให้ หากยังระบุตัวตนไม่ได้ก็ขอความร่วมมือจากประเทศต้นทางให้ส่งประวัติคนที่สูญหาย เช่น ประวัติด้านทันตกรรมหรืออื่นๆ ตั้งศูนย์เพื่อตรวจสอบตัวตนศพผู้เสียชีวิต
“ต้องกระจายการบริหารจัดการ ถ้าเก็บไว้ที่เรามันจะจัดการไม่ทัน” โทนี่กล่าวและสรุปภาพรวมการทำงานว่า ทำงานเป็นการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่การนำเดี่ยว โดยแบ่งรัฐมนตรีไปรับผิดชอบแต่ละโซน มอบอำนาจการตัดสินใจให้เด็ดขาด แต่หากไม่มั่นใจอะไรโทรหานายกฯ ทั้งหมดมาจากคำ 3 คำ คือ inclusive - เอาทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมคิดร่วมทำ collaborative - ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง empower - ให้อำนาจแก่คนที่บริหารจัดการเต็มที่ หลังจากนั้นนายกฯ ก็บินตรวจและติดตามความคืบหน้า โดยเบื้องต้นคือเร่งจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า สัญญาโทรศัพท์ น้ำประปา ถนน รวมถึงภารกิจสำคัญคือการตามหาคุณพุ่ม เจนเซ่น
“ช่วงนั้นการตัดสินใจมันวินาทีต่อวินาที เราต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมาบอกเราให้หมดว่าปัญหาคืออะไร ควรต้องทำอะไรบ้าง แล้วเรามีหน้าที่ตัดสินใจ ผมอยู่ภูเก็ต 7 วัน แล้วมอบให้รัฐมนตรีอยู่พื้นที่ต่อจนกว่าจะคลี่คลาย ผมประกาศทันทีในวันรุ่งขึ้นว่า ไทยไม่ขอรับบริจาคเป็นตัวเงินจากใครเลย แต่ต้องการการช่วยเหลือทางวิชาการ เช่น การค้นหาคน มันก็เท่ ทริคของผมคือ ต้องการบอกให้รู้ว่า ไทยฟื้นแล้วนะ ถ้าใครจะลงทุนมาได้แล้วนะ ขนาดมีภัยพิบัติขนาดนี้เรายังดูแลตัวเองได้”
ทั้งนี้ ก่อนหน้าปี 2547 ประเทศไทยเพิ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง' ไม่นาน และเพิ่งใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ในปี 2546 แต่ต่างประเทศยังไม่เชื่อว่าประเทศไทยแข็งแรงแล้ว