ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพแรงงาน 'จีเอ็ม' ร้องบริษัทฯ จ่ายค่าเสียหายเพิ่ม 1.5 เดือนต่อปี หลังขายกิจการเพราะไม่ได้ขาดทุน จี้รัฐจ่ายแทนหากบริษัทปฎิเสธจ่าย

นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงาน เจเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors หรือ GM) ประกาศยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในตลาดประเทศไทย ภายในสิ้นปี 2563 เป็นการขายที่บริษัทไม่ได้ขาดทุน ซึ่งหากอิงตามคำพิพากษาของศาลอุธรณ์ชำนัญพิเศษ คดีของสหภาพแรงงานรากแก้วสัมพันธ์ บริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับพนักงานทั้งหมดกว่า 1,500 คน แม้บริษัทได้แจ้งว่าจะจ่ายเงินชดดชยตามกฎหมาย บวกเงินพิเศษอีก 3 เดือน แต่ไม่ได้มีการจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดังนั้นขอเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าเสียหายในการเลิกจ้างในอัตรา 1.5 เดือนต่อปี เช่น อายุงาน 10 ปี ต้องจ่ายค่าเสียหาย 15 เดือน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  • นฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงาน เจเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย

และในโครงการซื้อรถในนามพนักงานที่บริษัทจัดขึ้นและยังผ่อนไม่หมด บริษัทจะต้องออกมารับผิดชอบโดยการจ่ายค่าส่วนต่างที่ค้างอยู่ทั้งหมด พร้อมให้บริษัทเปิดเผยสัญญาการซื้อขายกิจการของบริษัท

ส่วนกรณีนายจ้างใหม่ไม่รับมรดกความจากข้อพิพาทแรงงานตั้งแต่ปี 2556 ขอให้บริษัทต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้พนักงานที่ถูกปิดงาน กลุ่มกรรมการลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และพนักงงานที่อยู่ในคดีความด้วย โดยจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน บวกเงินพิเศษ 3 เดือน และค่าเสียหายในอัตรา 1.5 เดือนต่อปี และให้บริษัทจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของบริษัทให้กับพนักงานที่ยังไม่ได้รับ

ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้ภาครัฐเข้าไปควบคุมการซื้อขายกิจการให้รับพนักงานทุกคนเข้าทำงานสถานประกอบการใหม่ โดยได้รับสิทธิค่าจ้าง และอายุงานตามเดิม และให้ภาครัฐดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือพนักงานก่อนเกษียณอายุ 50-55 ปี ที่ไม่สามารถหางานทำได้ และให้ภาครัฐจ่านเงินช่วยเหลือพนักงานที่ถูกปิดงานตั้งแต่ ม.ค. 2558 และกรณีที่บริษัทไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รัฐจะต้องเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายตามอายุงาน โดยรัฐต้องมีมาตรการควบคุมการขายกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน