จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่านายสนธิญาได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยอ้างสาระของข้อร้องเรียนว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวปราศรัยว่าวีระศักดิ์ อดีต รมช.คมนาคม และทีม อบจ.และพรรคเพื่อไทยเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นกลุ่มเดียวกันเพื่อนำไปสู่แลนด์สไลด์ถือเป็นการกระทำที่ขัดมาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 72 และมาตรา 92 (3) ของ พรป.พรรคการเมือง และกรณีการแต่งตั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียง เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) เนื่องจาก ณัฐวุฒิ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม
ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ได้ชี้แจง ต่อสื่อมวลชนและประชาชนว่า การปราศรัยของหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเพียงพูดว่า วีรศักดิ์ และทีม อบจ. และพรรคเพื่อไทยเป็นกลุ่มเดียวกัน มีความหมายเพียงว่า บุคคลตามที่กล่าวมาเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพื่อนำไปสู่การแลนด์สไลด์เท่านั้น ไม่ได้มีการกระทำใดที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาควบคุม ครอบงำหรือชี้นำการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใดซึ่งการที่บุคคลใดจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดนั้น ยอมเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นที่จะพึงกระทำได้ อันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางการเมือง และพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้มีการกระทำใดที่จะถือเป็นการยินยอมให้บุคคลเหล่านั้นกระทำการในลักษณะเช่นนั้นแต่อย่างใดเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น พรรคเพื่อไทย ได้แต่งตั้งให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรค และยื่นเอกสารดังกล่าวต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้ว แม้ณัฐวุฒิ จะมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรคก็ตาม แต่ ณัฐวุฒิ ยังคงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายที่จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคและผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้ ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียงไว้ว่า เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น กรณีเช่นนี้พรรคได้ดำเนินการทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และ กกต.ก็ประกาศรับรองการเลือกตั้งที่ผ่านมา การที่ สนธิญากล่าวอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) ซึ่งเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่บทบัญญัติที่ห้ามบุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นสาร
ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของ สนธิญา จึงไม่เข้าองค์ประกอบใดๆ ที่จะถือว่าพรรคเพื่อไทยกระทำการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายพรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญ และพรรคเห็นว่า สนธิญา ได้ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยมาแล้วหลายครั้ง โดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนและถูกต้องเสียก่อน พรรคจึงเห็นว่าการกระทำของ สนธิญาอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 101 ของกฎหมายพรรคการเมืองที่บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น” พรรคเพื่อไทยจึงจะได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต. ได้ดำเนินการสืบสวนไต่สวนและเอาผิดต่อไป
นอกจากนี้ ได้ทราบข้อเท็จจริงว่ามีแกนนำบางคนของบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง การดำเนินการ ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน หากปรากฏหลักฐานชัดเจนพรรคก็จะยื่นขอให้ กกต.ดำเนินการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวตามมาตรา 101 วรรคสอง ต่อไปด้วย
ในเรื่องนี้ขอฝากไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า การจะพิจารณารับคำร้องที่มีการร้องขอให้ยุบพรรคนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนว่าอยู่ในข่ายที่สมควรจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะมีผู้ที่หวังจะสร้างผลกระทบในการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมือง โดยการนำข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ข้อมูลที่บิดเบือนคลาดเคลื่อนไปยื่นขอยุบพรรคเพื่อให้ เกิดกระแสทางโซเชียลมีเดียว่าพรรคโน้นพรรคนี้จะถูกยุบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับพรรคการเมืองได้