พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นชอบแผนการดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) โดยเน้นโครงการท่องเที่ยวในประเทศ เพิ่มการจ้างงาน และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน
ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบศ.มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศผ่านโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง
มาตรการแรกเป็นการเห็นชอบให้มีการเพิ่ม 3 สิทธิ ให้กับผู้ที่ลงทะเบียน ได้แก่
ขณะที่ส่วนที่ 2 เป็นการเห็นชอบในหลักการ ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพิ่มความถี่การพักค้าง และกระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมทั้งดึงดูดกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ อาทิ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
รัฐอุดหนุนค่าจ้างงาน ป.ตรี-ปวส.-ปวช. จบใหม่ 50% นาน 12 เดือน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือการจ้างงาน กระทรวงแรงงานมีแนวนโยบายให้สนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา โดยมีอัตราค่าจ้าง ตามวุฒิการศึกษาดังนี้
โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจะมีระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564
ทั้งนี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม พร้อมต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงานและต้องมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เกินกว่า 15% ภายในระยะเวลา 1 ปี กรณีที่ลูกจ้างลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถหาลูกจ้างใหม่ทดแทนได้
ขณะที่ ลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการจำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังนี้ (1) มีสัญชาติไทย และ (2) อายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกินกว่า 25 ปี ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปี 2562 หรือปี 2563
ช่วยค่าครองชีพปชช.อายุ 18 ปีขึ้นไป 3,000 บาท/ราย จำนวน 15 ล้านคน
พร้อมกันนี้ ศบศ. ยังเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนและผู้ประกอบการที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง วงเงิน 45,000 ล้านบาท ด้วยการให้รัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่าย 50% หรือไม่เกิน 3,000 บาท/คน และจำกัดการใช้จ่ายต่อคนตลอดโครงการ โดยกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนประมาณ 15 ล้านคน
ขณะกลุ่มร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ผ่านกลไกการดำเนินงานผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอต่อ ศบศ. ภายในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ นายกฯ ยังย้ำให้มีการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างมั่นคง โดยในที่ประชุมดังกล่าว สศช.มีเพียงการรายงานความคืบหน้าเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมและคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ แต่ไม่ได้มีการเสนอมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจแต่อย่างใด
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอความคืบหน้าโครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้โดยรวม และลดระยะเวลาติดต่อเจ้าหนี้หลายราย แก้ไขปรับโครงสร้างหนี้เดิม และให้สินเชื่อใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางแก่ที่ประชุม เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงครบถ้วน รวมทั้งให้ความสำคัญแก่ประชาชนรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อน โดยอาจเพิ่มคำแนะนำ ช่องทางการช่วยเหลือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: