ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว ออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เสียหาย แม้จะมีข้อโต้แย้งอย่างต่อเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแผนการปล่อยน้ำที่มีมานานหลายทศวรรษก็ตาม

ปั๊มถ่ายเทน้ำทะเลเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกไม่นานหลังเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยผู้ดำเนินการโรงงาน บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก) ได้ออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินการจะคำนึงถึงสภาพอากาศและทะเลที่มีความเหมาะสม

“ในขณะนี้ วาล์วใกล้ปั๊มขนส่งน้ำทะเลกำลังเปิด” เจ้าหน้าที่เทปโกกล่าวผ่านลิงก์วิดีโอจากโรงงาน ที่ออกอากาศในสำนักงานใหญ่ของบริษัท ณ กรุงโตเกียว

น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว มีมากกว่า 1 ล้านเมตริกตัน ซึ่งใช้ในการหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ที่พังยับเยิน หลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2554 โดยปัจจุบันนี้ น้ำจำนวนดังกล่าวถูกเก็บไว้ในถังประมาณ 1,000 ถังรอบพื้นที่โรงงาน และการปล่อยน้ำออกสู่ทะเลเป็นขั้นตอนสำคัญ เพื่อการรื้อถอนโรงงานแห่งนี้ที่ยังคงมีอันตรายสูง ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลานานถึง 40 ปี

เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งสนับสนุนแผนดังกล่าวของญี่ปุ่น จะถูกส่งตัวเข้าไปยังพื้นที่โรงงานเพื่อติดตามการปล่อยน้ำทิ้ง และจะมีการเก็บตัวอย่างน้ำและปลามาตรวจสอบ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นกล่าวว่าธาตุกัมมันตภาพรังสีทั้งหมดถูกกรองออกไปจากน้ำแล้ว ยกเว้นไอโซโทป ซึ่งยากต่อการกำจัดออกจากน้ำ อย่างไรก็ดี ยังมีการปล่อยไอโซโทปไฮโดรเจนออกมาในระดับที่สูงกว่ามาตรการ โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งรวมถึงทั้งในจีนและฝรั่งเศส

ทั้งนี้ เทปโกจะดำเนินการปล่อยน้ำบำบัด 4 ครั้งจนถึงเดือน มี.ค. 2567 โดยจะมีการปล่อยน้ำ 7,800 ลูกบาศก์เมตรในแต่ละครั้ง โดยขั้นตอนทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 17 วัน โดยตามข้อมูลของเทปโก น้ำดังกล่าวจะมีไอโซโทปประมาณ 190 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดที่มีได้ในน้ำดื่ม จากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร (เบคเคอเรลเป็นตัววัดกัมมันตภาพรังสี)

แผนดังกล่าวได้จุดชนวนความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าญี่ปุ่นจะยืนกรานว่า กระบวนการดังกล่าวปลอดภัย และได้รับการสนับสนุนจาก IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ที่อนุมัติให้มีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ค. โดย IAEA กล่าวว่า การปล่อยน้ำในครั้งนี้ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพียง “เล็กน้อย”

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 ส.ค.) จีนกล่าวว่าตัวเองจะใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความปลอดภัยของอาหาร และสุขภาพของประชาชน โดย หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เรียกความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นว่า "เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง" และกล่าวว่าจีนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว 

นอกจากนี้ จีนและดินแดนของจีนอย่างมาเก๊าและฮ่องกง ยังได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นจากทั่วจังหวัดฟุกุชิมะและกรุงโตเกียว และยกระดับการตรวจสอบรังสีในอาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดย จอห์น ลี ผู้บริหารระดับสูงของฮ่องกง กล่าวโจมตีว่า การปล่อยน้ำโดยญี่ปุ่นดังกล่าว “ขาดความรับผิดชอบ”

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังคงรักษาท่าทีของตัวเอง ต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ของญี่ปุ่น ท่ามกลางความกังวลของสาธารณชน แม้ว่าการประเมินของรัฐบาลเกาหลีใต้จะไม่พบปัญหา ในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค ของการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ในคืนวันพุธ พรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ ได้ออกมาร่วมกันจุดเทียนเพื่อแสดงความต่อต้านการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นในครั้งนี้

โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิได้รับความเสียหาย ในเดือน มี.ค. 2554 หลังจากญี่ปุ่นประสบกับเหตุภัยพิบัติสึนามิถล่ม ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 20,000 คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ภัยพิบัติดังกล่าวนับเป็นภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก นับตั้งแต่เชอร์โนบิลในปี 2529


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/8/24/japan-prepares-to-start-release-of-fukushima-radioactive-water?fbclid=IwAR0g5Sce841VH79yxbBeHWHRXWXCf-DjStjdANZxX6n2QlvxvOO9vjSSF1Y