ไม่พบผลการค้นหา
จากอดีตรองเลขาธิการพระราชวัง รองผบ.ตร. สู่นักโทษคดีรุกป่า และมรณกรรมในวัย 72 ปี

2 พ.ย.2565 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ณ ศาลาบุพการีอนุสรณ์ มีพิธีรดน้ำ 'จุมพล มั่นหมาย' อดีตรองเลขาธิการพระราชวัง และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเสียชีวิตจากอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังรักษาตัวในโรงพยาลร่วม 2 เดือน บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า และมีตำรวจ อดีตตำรวจร่วมงานจำนวนหนึ่ง

กำหนดการสวดอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.-8 พ.ย. เวลา 18.30 น. และจะมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 9 พ.ย.2565 เวลา 17.00 น.


ไทมไลน์เส้นทางชีวิต

จุมพล มั่นหมาย เกิดเมื่อ 23 ก.ย.2493 ที่จังหวัดลำปาง เป็นบุตรชายของ พล.ต.ท.จุฑา กับนางขวัญใจ มั่นหมาย จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 82, โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34, โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่น 26 จบปริญาโทจากนิด้า และสำเร็จหลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15 รวมทั้งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212

รับราชการครั้งแรกเป็นตำรวจตระเวนชายแดนที่อรัญประเทศ ก่อนจะย้ายมาที่ สน.บางซื่อ และโยกไปกองปราบปราม จนก้าวขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองปราบ และไปสู่ตำแหน่งสำคัญๆ เรื่อยมา เช่น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ในยุคอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับแต่งตั้งเป็น 'ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ' สื่อมวลชนรายงานว่า พล.ต.อ.จุมพล เปิดโปง 'ขบวนการคาร์บอมบ์' ลอบทำร้ายอดีตนายกฯ จนเป็นข่าวโด่งดัง

เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2549 เขาถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนจะย้ายกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีลุ้นก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ยอมเสนอชื่อ ในขณะที่มีหลายกลุ่มการเมืองสนับสนุน สุดท้ายอภิสิทธิ์พยายามผลักดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ปทีป จึงดำรงตำแหน่งรักษาการ ผบ.ตร.

ผลงานในอาชีพตำรวจ พล.ต.อ.จุมพล ได้รับการยอมรับด้านงานสืบสวนปราบปราม เคยร่วมสะสางคดีสำคัญหลายคดี เช่น คดีเพชรซาอุ, คดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์, คดีลอบสังหาร แสงชัย สุนทรวัฒน์ อดีตผู้อำนวย อสมท. ฯลฯ

พล.ต.อ.จุมพลเกษียณอายุราชการในปี 2553 ในปีต่อมา 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุกลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

• 23 ก.ย.2559 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ‘รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ’

• 6 ก.พ.2560 ท่ามกลางข่าวลือหลายกระแสเกี่ยวกับตัวเขาในเวลานั้น จุดเริ่มต้นความพลิกผันเกิดจากการบูรณาการร่วมกันของเจ้าพนักงานทั้งชุดรักษาความสงบเรียบร้อย อ.วังน้ำเขียว สังกัดกองพันทหารราบ มทบ.21, นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ, เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว เข้าตรวจสอบพื้นที่ซึ่งสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ เลขที่ 163 หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ หมู่ 2 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 75 ตร.ว. พบว่าตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จึงมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว เพื่อให้ดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.จุมพล และพวกฐานบุกรุกป่าสงวน และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ม.157

ทั้งนี้ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผบช.ภ.3 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ซื้อที่ดินต่อจาก พ.ต.ท.พงษ์เดช และนางชญานิศฐ์ พรหมมิจิตร รองผกก.หน.สภ.วังน้ำเขียว (ยศและตําแหน่งในขณะนั้น) และนาง ชญานิศฐ์ ภรรยาซึ่งเป็น ปลัด อบต.ไทยสามัคคีในขณะนั้น ข่าวบางส่วนระบุว่าได้รับมอบในปี 2551 บางส่วนระบุว่าเป็นปี 2554

• 27 ก.พ.2560 มีคำสั่งจากสำนักพระราชวัง ที่ 183/2560 เรื่องลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า

"พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ได้กระทำผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง สมควรรับโทษไล่ออกจากราชการ"

• 2 มี.ค.2560 ตำรวจนำตัว พล.ต.อ.จุมพล ในวัย 66 ปี มายังกองปราบฯ เพื่อมอบให้กับพนักงานสอบสวน โดยพล.ต.อ.จุมพล อยู่ในสภาพอิดโรย ศีรษะโล้น สวมเสื้อโปโลสีเทา กางเกงยีนส์ และใช้มือปิดบังใบหน้าตลอดเวลา มีการตรวจร่างกายและสอบปากคำ ก่อนเจ้าหน้าที่จะคุมตัวเขานำไปฝากขังต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา โดยขึ้นเครื่องบินของกองบินตำรวจไปลงที่กองบิน 1 กองทัพอากาศ อ.เมืองนครราชสีมา ก่อนนำตัวขึ้นรถยนต์ไปฝากขังกับศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลอนุมัติตามคำร้องฝากขังเป็นเวลา 4 ผัดรวม 48 วัน โดยตำรวจขอโอนตัวไปยังเรือนจำชั่วคราวใน กทม.

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.เปิดเผยว่า เบื้องต้น พล.ต.อ.จุมพลให้การภาคเสธ ต่อมาได้สอบสวนอีกครั้งที่ จ.นครราชสีมา จึงได้ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา

• 7 มี.ค.2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีรายละเอียดระบุว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดพลตำรวจเอกจุมพล มั่นหมาย ออกจากยศตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2560 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา

• 8 มี.ค.2560 อัยการจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา

• 10 มี.ค.2560 ที่กองบินตำรวจดอนเมือง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บังคับการกองปราบปราม, พล.ต.ต.วิสูตร ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 4 ร่วมกันเบิกตัวนายจุมพล จากเรือนจำพิเศษฯ ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังศาลจังหวัดนครราชสีมา รับฟังคำตัดสินของศาล นายจุมพลอยู่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล กางเกงขาสั้น สวมกุญแจมือ และสวมโซ่ตรวนที่ข้อเท้า

ศาลตัดสินให้จำคุกนายจุมพล ความผิดฐานบุกรุกป่า 2 ปี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จำคุก 4 ปี รวม 6 ปี แต่รับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 3 ปี และมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารในพื้นที่พิพาทออกไป พร้อมให้ชดใช้ความเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 892,302 บาท

จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจุมพลขึ้นรถผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดนครราชสีมาออกจากศาลไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินกองบิน 1 เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยมีกำลังตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมากว่า 30 นาย รักษาความเรียบร้อยตลอดเส้นทาง

• 14 มี.ค.2560 อุทยานแห่งชาติทับลานสั่งรื้อถอนบ้านพักนายจุมพลภายในเดือนพ.ค. และไม่ปรากฏข่าวขอจุมพลอีกจนกระทั่งเสียชีวิต

ทั้งนี้ ประเด็นการรุกพื้นที่ป่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ มี ส.ส.หลายคนที่หลุดจากตำแหน่งด้วยเหตุดังกล่าว และยังมีอีกหลายคนที่ ป.ป.ช.เปิดเผยรายชื่อเมื่อเดือนเมษายน 2565 ว่าต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีการรุกที่ป่าหรือไม่ แต่ยังไม่ปรากฏความคืบหน้า

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานไว้ว่า ป.ป.ช.ระบุรายชื่อ 34 คนทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ในจำนวนนี้เป็น ส.ว. 4 คนที่ครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.ได้แก่ 1. พล.อ.สราวุฒิ ชลออยู่ ที่ดิน ภ.บ.ท.5 100 ไร่ ที่หนองปรือ จ.กาญจนบุรี 2.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ภ.บ.ท.11 20 ไร่ ที่วังด้ง จ.กาญจนบุรี 3.ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ที่ดิน ภ.บ.ท.5 75 ไร่ ที่คลองลาน จ.กำแพงเพชร 4.นายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ ที่ดิน ภ.บ.ท.5 1 งาน ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา

C3666B82-2D94-47CB-958B-2018CF082BB3.jpeg1DE9CBF0-CB30-4D0B-9776-E301F8FDC722.jpegCA9BDBBA-7B63-488D-B108-19FA3C96B4B0.jpegACE4D82B-7D5B-486F-86DD-4AF7A528C8EE.jpeg991BA088-F6D7-46A2-91BC-9DED3E883701.jpeg27676337-AEC4-4556-B49C-59694B3F40A3.jpeg6F816641-527A-432D-BDFD-06E70B765296.jpeg04B7EDBB-150B-4072-98C9-445F808A271A.jpeg0AB2BC49-64FF-4AC0-9AAD-6CC5AECFFACC.jpegA29CC2EF-B548-44BA-AAD9-1096530F7A2E.jpeg4616D4F7-B9EF-413A-ACF0-33D01E1BC98F.jpeg36030345-1D25-4B1A-AE79-24F906DBF39A.jpeg12CFEE94-6898-4FEC-BA7C-F4CD13E35C9D.jpeg