สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงไม่มีท่าทีจะสดใสในอนาคตอันใกล้ ซึ่งประเทศไทยก็ไม่พ้นกับชะตากรรมที่ไม่น่าอภิรมย์นี้เช่นเดียวกัน
รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ชิ้นล่าสุด ภายใต้ชื่อ "ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยืดยาว : ความท้าทายและโอกาส" สะท้อนแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของเอเชีย ที่มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2562 และ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2563 และนับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีวิกฤตการเงินในปี 2551
'โจนาธาน ออสทรี' รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิค กองทุนการเงินระหว่่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เมื่อลงไปดูในประเทศและเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย จีดีพีของทั้งจีนและญี่ปุ่นมีการปรับลดลงอย่างชัดเจน
ตามการประเมินของไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าจีดีพีของจีนในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 และปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ขณะที่ จีดีพีของญี่ปุ่น อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2562 และ ร้อยละ 0.5 ในปี 2563
ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนยังพอมีหวังปรับขึ้นจากจีดีพีปีนี้ ที่คาดว่าจะปิดสิ้นปีจะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และขึ้นไปเป็นร้อยละ 4.8 ในปีหน้า
สำหรับประเทศไทย ไอเอ็มเอฟ วิเคราะห์ว่าจีดีพีจะขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ในปีหน้า ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากปีนี้ที่คาดว่าเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
ยังรอดได้ด้วย 'หลายมาตรการ'
แม้สถานการณ์ทั่วโลกโดยเฉพาะปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เบร็กซิต รวมถึงความเสี่ยงในการยกระดับความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะส่งผลต่อนักลงทุนทั่วโลก และสะท้อนออกมาในการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับประเทศไทย 'โจนาธาน' กล่าวว่า รัฐบาลยังสามารถผ่อนให้สถานการณ์รอบตัวเบาลงได้ด้วยการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ โดยนโยบายการเงินและการคลังของไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ 'โจนาธาน' หยิบขึ้นมานำเสนอ
พร้อมกับชี้ว่ารัฐบาลยังมีที่ว่างพอให้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันก็ให้เร่งใช้นโยบายการคลัง ไปในส่วนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน
นอกจากนี้ 'โจนาธาน' ยังสะท้อนว่า ที่ผ่านมาไทยมีการเจรจาความร่วมมือด้านการค้า บริการ รวมถึงการลงทุนที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการ ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินให้เพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักได้เลย
อย่างไรก็ตาม การเจรจาที่ผ่านมากลับไม่สามารถดำเนินไปถึงจุดที่จะตกลงกันได้สักโครงการ จึงต้องการให้รัฐบาลไทยกลับมาเดินหน้าขับเคลื่อนการเจรจาต่างๆ ที่ค้างอยู่ อาทิ การเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป หรือ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)
แม้ไทยจะมีโอกาสรักษาไม่ให้ตัวเองเจ็บมากนักจากผลกระทบของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก แต่ปัจจัยเสี่ยงทั้งการยกระดับของสงครามการค้าและความไม่แน่นอนในการเดินหน้าเจรจาของสองประเทศมหาอำนาจ (สหรัฐฯ-จีน) รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการเงินโลกที่จะฝืดเคืองขึ้น ก็จะไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :