ไม่พบผลการค้นหา
เหตุจลาจลในเรือนจำที่ จ.บุรีรัมย์อาจเป็นผลจากทางการไทยประเมินความวิตกกังวลของคนในเรือนจำต่อสถานการณ์โควิด-19 'ต่ำเกินไป' องค์กรสิทธิฯ HRW ชี้ ไทยต้องเริ่มมาตรการคัดกรอง-ป้องกันโรคระบาดเรือนจำ ลดสภาพแออัด

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความมั่นใจกับผู้ต้องขังในเรือนจำว่า พวกเขาจะต้องได้รับการปกป้องจากโรคระบาด 'โควิด-19' พร้อมระบุว่า เหตุจลาจลในเรือนจำที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา อาจเป็นผลจากผู้เกี่ยวข้องประเมินความวิตกกังวลของผู้ต้องขังต่ำเกินไป

เนื้อหาในแถลงการณ์ HRW ระบุว่า สิ่งที่ภาครัฐไทยควรทำ คือ การจัดหาอุปกรณ์อนามัยสำหรับป้องกันโรคเพื่อให้นักโทษเข้าถึงได้ พร้อมระบุว่าสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันในประเทศไทย เพิ่มเป็น 1,524 รายในช่วงปลายเดือน มี.ค. โดย 2 รายเป็นการติดเชื้อในเรือนจำ ส่วนผู้เสียชีวิตมีจำนวน 9 รายแล้ว

สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 380,000 คนทั่วประเทศ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และคำสั่งของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งห้ามญาติเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังระหว่างวันที่ 18-31 มี.ค. ก็ยิ่งทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ผู้ต้องขังมากยิ่งขึ้น HRW จึงเรียกร้องให้ไทยจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือ และยารักษาบรรเทาอาการที่มีประสิทธิภาพ เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยในเรือนจำ และจะต้องสื่อสารให้ผู้ต้องขังเข้าใจสถานการณ์อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ HRW ยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย คือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดประชากรในเรือนจำ ลดความแออัด และลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด 

ส่วนเงื่อนไขในปล่อยตัวผู้ต้องขัง สามารถพิจารณาได้จากกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่ไม่ร้ายแรง หรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล และต้องชี้แจงให้ญาติของผู้ต้องขังรับทราบถึงมาตรการด้านสาธารณสุขในเรือนจำต่างๆ เพื่อความโปร่งใสและทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ขณะที่ 'มิเชล บาเชเลต์' ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องนานาประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาเรือนจำแออัด พิจารณาการปล่อยตัวนักโทษ เพื่อให้เกิดการ 'เว้นระยะห่าง' (social distancing) พร้อมเรียกร้องให้แต่ละประเทศจัดเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพบาบาลในเรือนจำให้ดี เพราะหลายประเทศไม่มีระบบสาธารณสุขภายในเรือนจำเพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขัง

ทั้งนี้ เหตุจลาจลในเรือนจำที่เกิดขึ้นเพราะผู้ต้องขังหวาดกลัวโรคโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงประเทศเดียว ก่อนหน้านี้ก็มีการจลาจลในเรือนจำที่อิตาลี โคลอมเบีย เวเนซุเอลา จอร์แดน เลบานอน และบราซิล เพราะผู้ต้องขังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจน

ส่วนอีกหลายประเทศ เช่น อิหร่าน อัฟกานิสถาน อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยพิจารณาปล่อยผู้หญิง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ผู้ที่ใกล้จะพ้นโทษอยู่แล้ว รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีเล็กๆ น้อยๆ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: