ไม่พบผลการค้นหา
‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ สะท้อนความจริงที่ถูกเมินท่ามกลางความศิวิไลซ์ จากประสบการณ์ตรงลงพื้นที่บรรเทาความทุกข์จากโควิด-19 ไม่เสียดายเงินส่วนตัวนับสิบล้าน ยก ‘ประชาชน’ คือผู้มีพระคุณต้องหาทางตอบแทน กระทุ้งแก้ปัญหาจริงจัง พัฒนาคุณภาพชีวิต-การศึกษา

วิกฤตโควิด-19 ‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ พร้อมด้วย ‘เอกพันธ์  บรรลือฤทธิ์’ แฝดของเขา นำทีม ‘อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู’ เดินเท้าแจกเงิน เครื่องอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 80 ชุมชน

“คนมาวิ่งเคาะกระจกรถ ไม่ได้ขายพวงมาลัย ไม่ได้ขายอะไร แต่มาขอตังค์ วันนั้นเราตัดสินใจแล้วว่า เฮ้ยต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว” บุคคลที่คนยากคนจนยกนิ้วให้เป็นฮีโร่ บอกความรู้สึกที่ทำให้เขามิอาจนิ่งดูดายได้


‘นี่หรือประเทศไทย’ สะท้อนความจริงที่ถูกเมิน

พระเอกจิตอาสา และผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ‘มูลนิธิร่วมกตัญญู’ เล่าประสบการณ์ตรง จากการลงพื้นที่ 1 เดือนเศษ ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.63 จนถึงวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา กับทีมข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราคงไม่ทราบเลยว่า ‘บางพื้นที่ นี่หรือประเทศไทย’

“ข้างหน้าดูหรูตึกโอ้โห วัตถุขึ้นเป็น 5 6 70 ชั้น อยู่กันแบบหรู แต่ล่างๆ ต่ำๆ ลงมาคนไม่เคยมองเลย พื้นเนี่ยใช้ขวดพลาสติกปิดฝาแล้วก็วางเรียงแถวเป็นพื้น เพื่อน้ำขึ้นมันก็ลอยขึ้นมาไง ลอยได้ไม่เปียกน้ำ ถ้าน้ำลดมันก็ลงไง ถ้าเป็นไม้ น้ำขึ้นนอนไม่ได้เลย มันเหมือนกับแพในแม่น้ำ แต่นั่นคือไม่ใช่แพนะเว้ย มันเป็นที่พักบ้านคนข้างตึกริมทางรถไฟ เฮ้ยมันมีอย่างนี้ด้วยหรอ”

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์.jpg

ยิ่งเห็นกับตาประชาชนในชุมชนต่างๆ มีสุขลักษณะที่ไม่ดี ยิ่งทำให้เขาและรู้สึกดีต่อใจ ที่ก้าวเข้าไปให้การช่วยเหลือ แบบไม่เสียดายเงินส่วนตัวหลักสิบล้าน รวมทั้งเป็นสะพานบุญให้กับพี่น้องชาวไทยที่ให้การสนับสนุนสิ่งที่เขาทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ให้ราคากับพวกที่มีทัศนคติติดลบมองว่าเป็นการกระทำเพื่อสร้างภาพให้ดูเด่นดูดีแต่อย่างใด

“เป็นอะไรที่ทำไม่เหนื่อย รู้สึกเต็มใจที่อยากจะช่วย อยากจะทำให้กับพ่อแม่พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เราบริสุทธิ์ใจมากที่ได้ลงพื้นที่โดยไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่ได้สร้างภาพให้แบบโอ๊ยไม่ใช่เลย ในชุมชนพวกเขาหาเช้ากินค่ำ รายวัน ใช้แรงงาน ข้าวสักกล่องนึง น้ำสักขวดนึง เงินสักสิบบาท สักร้อยนึง โอ้โห มันเป็นอะไรที่แบบรอดตายวันต่อวัน เห็นภาพประชาชนได้รับการช่วยเหลือดีสำหรับใจเรา เห็นภาพหัวเราะทั้งน้ำตา ทั้งขอความเป็นธรรม ขอความช่วยเหลือต่อเนื่อง”

“ผมเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าต่างๆ แล้วก็ยังไม่ได้ถ่ายให้เขาด้วย แต่ขอร้องเขาผมขอเบิกก่อนนะ ผมต้องเอาเงินมาช่วยเหลือประชาชน คนเดียวเนี่ย 13 ล้าน อีก 3 ล้าน ได้มาจากพี่น้องคนไทยที่เขาเห็นเราทำอยากช่วยเหลือโอนมาให้ 1 ล้าน คนไทยในญี่ปุ่นโอนมาช่วย 1 ล้าน น้องอีลิทที่เป็นเด็กๆ อายุประมาณ 8-9 ขวบ ไปเรี่ยไรเพื่อนๆ มาให้เกือบ 5 แสน และก็มีน้องฝาแฝดเดือนกับดาว เห็นเราเป็นฝาแฝดท็อปกับไทด์ เป็นวันเกิดเขาพอดีเอามามอบให้อีก 5 แสน ผสมกันก็ประมาณ 16 ล้าน ถามว่าเสียดายตังค์ไหม ไม่เสียดาย ผมต้องกลับไปเหนื่อยถ่ายโฆษณาให้เขาอีก ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ แต่โอเคถ้าไม่ได้พี่ๆ คนเหล่านี้ผมก็ไม่มีเงิน”


กระทุ้งแก้ปัญหาจริง พัฒนา ‘คุณภาพชีวิต-การศึกษา’

ระหว่างลงพื้นที่ได้พบกับสภาพความเป็นอยู่ชวนให้รู้สึกสลดหดหู่มากมาย ทำให้บิณฑ์เกิดคำถาม “ทำไมคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาดูแลแก้ปัญหาจริงจัง” เพื่อสร้างชีวิตประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศให้ดีขึ้น

“เด็กอายุ 7-8 ขวบ วิ่งเล่นกัน ถามว่าเรียนหนังสือหรือยัง ยัง บางวันก็ออกไปขอทาน พวกนี้คืออนาคตของชาตินะ 7-8 ขวบยังไม่ได้เรียนหนังสือแล้วจะไปเรียนเมื่อไหร่ เด็กอายุ 12-13 มีลูกกันแล้วอยู่ใต้ทางด่วน อนาคตข้างหน้าจะทำอะไร เนี่ยมันคือปัญหา ความเหลื่อมล้ำมันมีมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าเกิดว่ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ ช่วยกันจริงๆ งบประมาณสัก 2-3 หมื่นล้าน เอามาดึงพวกเขาออกมาจากตรงนั้น”

หากเปรียบเทียบชนชั้นของคนในเมืองใหญ่เหมือนกับรูปทรงพีระมิด กลุ่มคนที่อยู่บนยอดแหลมคือคนรวยล้นฟ้า ที่มีเพียงอยู่หยิบมือเดียว ส่วนคนที่อยู่ปลายฐานกว้างที่สุด คือ คนยากจนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งรวมถึงชุมชนแออัด

บิณฑ์ บอกว่า ยิ่งควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกลุ่มใหญ่ ให้มีการศึกษาที่ดี เพื่อให้พวกเขามีความรู้ความสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพสุจริจ ใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหา พัฒนาชีวิตให้มีคุณค่าต่อไปภายภาคหน้า เป็นการพัฒนาสังคมให้เจริญหูเจริญตาควบคู่กันไปในตัวด้วย

“ควรทำให้เขาดีมีการศึกษา มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งมีอาชีพที่ดี ไม่ต้องไปเป็นทาสยาเสพติด ไม่ต้องไปเป็นทาสน้ำกาม และอื่นๆ ที่มันไม่ดี พวกนี้เขาไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีคุณธรรม พอโตขึ้นมาอยากได้อะไรต้องได้ ใครผิดหูผิดตาไม่ได้ ทุกวันนี้มันถึงมีอารมณ์ร้อน มองหน้ากันยิงกันฆ่ากัน ถ้าเอาระดับนี้มาดูแลได้ พวกที่เขาไม่มีพ่อมีแม่ พวกที่ยังขาดเรื่องการศึกษา ลงทุนหน่อยประเทศไทย อ่อโธ่ ชุมชนผมเข้ามาหมด คุณสามารถทำได้ แล้วพวกอาชญากรรมต่างๆ มันจะลดน้อยลง อาชญากรรมทุกวันนี้มีมากมายโหฆ่ากันอย่างกับผักปลา เพราะนี่แหละมาจากจุดนี้เลย ข่มขืนฆ่ากันชกต่อยกัน สิ่งที่ผมเห็นมาผมก็อยากจะเล่าให้ฟังเพื่อจะได้เป็นหูเป็นตากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์.jpg

‘ประชาชน’ คือ ‘ผู้มีพระคุณ’ ทนเห็นเดือดร้อนไม่ได้

พระเอกนักสังคมสงเคราะห์ บอกอีกว่า ทุกวันนี้เขาทำงานหาเงินไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อคนอื่น ซึ่งหมายถึง ‘ประชาชน’ ที่เขายกเป็น ‘ผู้มีพระคุณ’ ให้การสนับสนุน เสียเงินตีตั๋วชมภาพยนตร์  ติดตามผลงานผลงานละคร แสดงความชื่นชม ทำให้มี ‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ โดดเด่นขึ้นมาเป็นดาวประดับวงการบันเทิง และสิ่งสำคัญที่ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด ‘ต้องกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ’  ทุกครั้งที่เห็นเงินออกจากกระเป๋าไปแล้ว ช่วยทำให้คนตกทุกข์ได้ยากมีชีวิตใหม่หรือมีอนาคตที่ดี จึงรู้สึกมีความสุขเหนือคำบรรยาย

เป็นที่มาของการนำพา ‘แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์’ ศิลปินลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘เทพบุตรเสียงดี’ ที่เคยโด่งดังในช่วงปี พ.ศ.2521-2554 ด้วยเพลงแห่ขันหมาก, รักสาวเสื้อลาย และเพลงหิ้วกระเป๋า เข้ารับการรักษาดวงตาข้างขวา ที่เป็นต้อส่งผลให้การมองเห็นลดลง ที่ รพ.พริ้นสุวรรณภูมิ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“เห็นเขายิ้มเห็นเขามีน้ำตาด้วยความตื้นตันใจ ที่ได้รับการช่วยเหลือมันยิ่งมีความสุขสำหรับเรามาก เอาเป็นว่าถ้าคนไม่ทำอย่างเราจะไม่รู้หรอกว่ามันมีความสุขขนาดไหน ผมมีกิน 3 มื้ออยากกินอะไรสั่งมากินได้หมด แต่พวกเขาล่ะ ในทีนี้หมายถึงประชาชนทั่วไปที่เขามีบุญคุณกับเรา ผมพูดว่ามีบุญคุณเพราะว่า เมื่อก่อนกว่าผมจะเป็น บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ได้เนี่ย เล่นหนังมากี่เรื่อง ถ้าไม่ได้พี่น้องประชาชนทั่วไปมาอุดหนุน มาชื่นชม โอ้โหชอบมากเลย พวกเขาเสียงเงินร้อยนึงสองร้อยตีตั๋วไปดูหนัง ดูละคร ซื้อสินค้าในทีวี ถ้าเข้าชื่นชมผมขนาดนั้น เราจะมานั่งนอนกินดีอยู่ดี แล้วปล่อยพวกเขาอดตายไม่ได้”

“พี่พรพิมล มั่นฤทัย พี่คมน์ อรรฆเดช ผู้ที่มีบุญคุณกับผม ปั้นผมมา ทุกปี วันเกิด ปีใหม่ สงกรานต์ ผมจะถึงทุกปี รดน้ำดหัวกราบขอพร สั่งเค้กไปทำอะไรให้ทุกอย่าง ผมถือว่านี่คือสิ่งที่เราตอบแทนบุญคุณได้ พี่น้องประชาชนก็เหมือนกันผมตอบแทนได้ก็ต้องตอบแทน พี่แสงสุรีย์เนี่ยเราไม่ได้รู้จักกัน รู้จักในนามศิลปินนักร้องลูกทุ่งที่ผมชื่นชมและชื่นชอบ เอาเพลงเขามาร้อง 10-20 ปี โหได้เงินมาเป็นล้าน แล้ววันนึงมาเจอเขาอยู่ในสภาพอย่างนี้ จะให้ปล่อยเขาไปหรอผมต้องคืนให้เขา ถ้ายังไม่มีโรงพยาบาลมาติดต่อผมก็จะเอาเขาไปรักษาให้หาย และก็จะดูแลเรื่องบ้านที่เขาอยู่ ปรับปรุงให้เขามีความเป็นอยู่ดี”

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์.jpg

ไม่ใช่ ‘เทวดาเดินดิน’ แต่เป็น ‘บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์’ อาสาสมัครร่วมกตัญญู

เป็นขวัญใจคนยากคนจน ได้รับฉายา ‘เทวดาเดินดิน’ จากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี โดยเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จนกระทั่งมียอดบริจาคทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 400 กว่าล้านบาท บิณฑ์ บอกว่า ส่วนตัว รู้สึกอายกับการยกย่องที่สูงส่งเกินไป สำหรับคนติดดิน เป็นอาสาสมัครร่วมกตัญญูคนหนึ่ง ที่มีจิตอาสา มีหน้าที่ให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก จากภัยต่างๆ อยู่แล้ว  

“ผมอายมากกับคำว่าเทวดาเดินดินเนี่ย ผมไม่ใช่ เป็นอะไรที่ต้องเป็นเทพ ต้องเป็นอะไรที่แบบช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทั้งหมด ผมบอกน้องทุกคนอย่าหลงใหลกับคำเยินยอ คนหมั่นไส้เราก็มี ให้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาอยากจะพูด ผมก็บอกทุกคนว่าผมไม่ใช่หรอกครับ ผมเป็นแค่อาสาสมัครร่วมกตัญญู บางคนบอก โอ๊ย นี่ฮีโร่ ผมเลยก็แล้วแต่เขาจะเรียก แต่สำหรับผม ผมไม่ชอบ เป็นอะไรที่สูงส่งเกินไป ไอ้ผมมันติดดินไม่มีอะไรที่จะไปช่วยเหลือเขาได้ตลอดรอดฝั่ง ช่วยได้ในเบื้องต้นช่วยได้แบบตามมีตามเกิดเท่านั้นเอง”