งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อี๊งภากรณ์ ร่วมกับ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ดีพีเอ) สะท้อนความน่ากังวลของสถานการณ์การฝากเงินของคนไทย ที่มีทั้งประเด็นการกระจุกตัวของเงินฝาก ระดับการออมเงินในบัญชีต่ำ และการออมเงินในบัญชีที่ให้ผลตอบแทนต่ำ
'อัจจนา ล่ำซำ' หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านเครือข่ายวิจัยและการสื่อสาร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อี๊งภากรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลเชิงสถิติของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ณ เดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ประเทศไทยมีเงินฝากรวมทั้งสิ้นในบัญชีสถาบันการเงิน 34 แห่ง ทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาท และมีจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 80.2 ล้านบัญชี จากผู้ฝากเงินบุคคลธรรมดา 37.9 ล้านคน
กระจุก-ไม่ฝาก-ฝากที่ให้เงินน้อย
จากข้อมูลภาพรวมเงินฝากร้อยละ 72 ของทั้งระบบพบว่า จำนวนเงินฝากในธนาคารพาณิชย์มีการกระจุกตัวสูงมาก เนื่องจากเมื่อแบ่งช่วงจำนวนการฝากเงินแบบเดไซล์ (Deciles) หรือการวัดตำแหน่งของข้อมูลที่แบ่งออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆ กัน พบว่า ผู้ฝากรายใหญ่ที่สุดร้อยละ 10 ประมาณ 3 ล้านคน หรือผู้ที่มีเงินฝากตั้งแต่ 173,944.2 บาท ขึ้นไป มีเงินฝากรวมถึงร้อยละ 93 ของเงินฝากทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์
ขณะที่ ความน่ากังวลอีกประการหนึ่ง มาในรูปแบบของการมีบัญชีเงินฝาก แต่กลับไม่มีเงินฝากจริงในบัญชี 'อัจจนา' ชี้ว่า จากจำนวนคนไทยกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 56.04 มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่ครึ่งหนึ่งของบัญชีเงินฝากมีเงินเพียง 3,142 บาท
นอกจากนี้ อีกร้อยละ 32.8 ของผู้ฝาก หรือประมาณ 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนั้น หรือจำนวนผู้ฝากอีก 4.7 ล้านคน มีเงินฝากไม่ถึง 50 บาท
โดยงานวิจัยพบว่ากลุ่มวัยเริ่มทำงานเป็นวัยที่มีจำนวนบัญชีสูง แต่จำนวนเงินในบัญชีจะสอดคล้องกับอายุที่เพิ่มขึ้น คือผู้สูงอายุจะมีจำนวนเงินฝากมากกว่ากลุ่มวัยทำงาน แต่มีการกระจายจำนวนบัญชีน้อยกว่ากลุ่มวัยทำงาน
นอกจากนี้ เมื่อมองในมิติเรื่องเพศ ยังพบว่า เพศหญิงในทุกช่วงวัยมีการเก็บออมด้วยเงินฝากมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า โดยค่าเฉลี่ยเงินฝากต่อรายของผู้หญิงอยู่ที่ 4,407 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้ชายอยู่ที่เพียง 2,524 บาท เท่านั้น
ประเด็นสุดท้ายอยู่ที่การขาดความรู้เรื่องผลตอบแทนในการฝากเงินของประชาชน เนื่องจากข้อมูลสะท้อนว่า ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 88 จะฝากเงินไว้กับบัญชีออมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสะท้อนการขาดความตระหนักรู้ถึงผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ ที่อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือ การขาดความรู้ในการบริหารจัดการการเงินของตน
'อัจจนา' กล่าวปิดท้ายว่า เมื่อประเมินสถานการณ์ทางการฝากเงินของคนไทยในปัจจุบันพบว่า สถาบันการเงินต้องออกแบบผลิตภัณฑ์การออมที่ตรงกับความต้องการของผู้ออมในกลุ่มต่างๆ และยังต้องส่งเสริมความรู้ด้านการออมและบริหารจัดการการเงินให้กับประชาชน